ทิศทางปี2553/4(5)ระบบเศรษฐกิจถนน-แม่น้ำลำคลอง

แม้ว่าค่อนข้างประหลาดใจบ้าง  บทความว่าด้วย วิกฤติการณ์น้ำท่วม 2 ตอน (“ป่า เขื่อน ถนน แม่น้ำ ลำคลอง แล น้ำท่วมหาดใหญ่) มีคนสนใจอ่านกันมาก (อ้างจากจำนวนครั้งที่อ่านในBlog ส่วนจาก “มติชนสุดสัปดาห์”ไม่มีข้อมูล) จึงพอจะทึกทักได้ว่า แนวความคิดอย่างคร่าวๆที่เสนอว่าด้วยโครงสร้างปัญหาน้ำท่วมนั้น   น่าจะเป็นกระแสเล็กๆกระแสหนึ่งที่สร้างแรงกระตุ้นระดับกว้างพอสมควร

 ผมจึงพยายามอีกครั้ง อรรถาธิบายเรื่องนี้โดยจะยกขึ้นเป็นโมเดลระดับใดระหนึ่ง ทั้งนี้มิได้มีประสงค์จะเสนอแนวความคิดเป็นวิชาการ หรือด้วยสำนวนภาษาของนักว่างแผนระดับชาติแต่อย่างใด

 ผลพวง

แนวคิดของบทความนี้ มีสมมติฐานที่ว่า วิกฤติการณ์น้ำท่วม  มิได้เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญ หรือปัจจัยที่นำมาเป็นเงื่อนไขในแนวคิดนี้   เพราะคำว่า ภาวะโลกร้อนสำหรับสังคมไทย อาจเป็นเพียงคำพูดลอยๆเพื่อปลง ปลอบโยนกันเอง  หรือเป็นคำนำในการดำเนินกิจกรรม(อ้างว่าเพื่อสังคม)เล็กๆ  มิได้นำไปสู่ความคิดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง

แนวความคิดของบทความนี้ มีสมมติฐานว่าวิกฤติการณ์นำท่วม มาจากผลพวงของการพัฒนาตั้งแต่มี(การเขียน)แผนพัฒนาฉบับแรกของไทย  ความเจริญทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้รับแรงกระตุ้นจากแนวคิดและการลงทุนจากตะวันตกและญี่ปุ่น ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังสงครามเวียดนาม ก่อให้เกิดกระบวนการใช้ประโยชน์ ดัดแปลง   ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีการวางแผนและไม่มียุทธ์ศาสตร์  ดังผมได้เสนอแนวคิดแบบ “แยกส่วน”ว่าด้วยป่าไม้ เขื่อน ถนน และแม่น้ำ ลำคลอง ยกมาบางตอนจากความบทชิ้นก่อน( ว่าด้วยอุทกภัย(1)ป่าไม้ เขื่อน ถนน แม่น้ำ )

–ป่าไม้ ข้อสรุป เป็นสูตรสำเร็จที่ว่าด้วย นำท่วมใหญ่มาจากการตัดไม้ ทำลายป่า นั่นอาจเป็นข้อสรุปที่ไม่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง แม้ว่าสัมปทานป่าไม้ยังคงมีอยู่บ้าง การลักลอบตัดไม้ยังมีอยู่   แต่สภาพป่าไม้ธรรมชาติของประเทศไทย ได้ถูกทำลายอย่างขนานใหญ่และรุนแรง ถึงขั้นเสียความสมดุลของธรรมชาติและระบบนิเวศน์มาแล้วเกือบสามทศวรรษ ที่สำคัญจากนั้น เป็นดัชนีถึงสาเหตุและกระบวนการ ของพัฒนาการในภาพรวมที่ขาดความสมดุล

 -เขื่อนปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือปริมาณน้ำจำนวนมากไปรวมกันในที่เดียว เกินความจุของเขื่อน   เมื่อถูกปล่อยออกมาจำนวนมากในเวลาอันสั้น มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ใต้เขื่อนที่ไม่มีระบบรองรับน้ำทิ้งจากเขื่อนปริมาณมากๆอย่างที่เห็นและเป็นอยู่   แนวคิดการกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณเขื่อน เชื่อว่าสามารถควบคุมและจัดการได้ดีกว่าการปล่อยไปตามธรรมชาติ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ   โดยอยู่ภายใต้สมมตฐานว่ามีนักบริหารจัดการที่มีความสามารถ  

–ถนน ในเชิงภูมิศาสตร์ ยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจถนน การตัดถนนใหม่และปริมาณเส้นทางที่มีมากขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการการขยายพื้นที่ของชุมชนเมือง   ย่อมทำให้พื้นที่ราบลุ่มเดิม สำหรับเกษตรกรรมและการรับน้ำลดลงอย่างมากในเวลาเดียวกัน      นอกจากนี้โครงข่ายถนนคือ ระบบการตัดแบ่งพื้นที่ เป็นขนาดเล็กๆ จำนวนมากมายทั่วประเทศ เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก  

–แม่น้ำ ลำคลองไม่เพียงไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ตามแนวเศรษฐกิจทุนนิยมสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์จะถูกละเลย และขาดการพัฒนา แม้น้ำสายเก่ายังมีอยู่เท่าเดิม มิหนำซ้ำไม่ได้ดูแล รักษา ขุดลอกร่องน้ำ มีสภาพเสื่อมโทรมลงทุกขณะ นักวางแผนยุทธ์ศาสตร์ของสังคมไทยไม่อาจจะมองเห็นคุณค่าของแม่น้ำ ลำคลองเชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่

ผลกระทบ

วิกฤติการณ์น้ำท่วมล่าสุดให้ภาพผลกระทบหลายมิติ

มิติแรก อาณาบริเวณที่ได้รับผลบกระทบกว้างขวางมากขึ้น  มิได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ในชุมชนเกษตรกรรมที่ราบลุ่มเท่านั้น ขยายเข้าสู่หัวเมือง  จนกระทั่งเมืองใหญ่ที่สุดในต่างจังหวัด ทั้งโคราช เชียงใหม่และ หาดใหญ่ก็เผชิญปัญหามาแล้วอย่างงถ้วนทั่ว

มิติที่สอง ผลกระทบในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะที่หาดใหญ่เป็นภาพจำลองความเสี่ยหายทางเศรษฐกิจของเมืองที่มีระบบซับซ้อนมากขึ้น (ข้อความบางส่วนจากนี้อ้างมาจากบทความเรื่อง“ว่าด้วยอุทกภัย(2) น้ำท่วมหาดใหญ่”)

ปรากฏการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ มีลักษณะแตกต่างจากที่อื่นๆพอสมควร แม้ว่าจะอุบัติขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพียงประมาณ 3วันเท่านั้น แต่ก็ส่งผลกระทบเฉียบพลันในเชิงเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภคสำหรับเมืองการค่าสมัยใหม่ เมืองที่มีสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะศูนย์การค้ามากที่สุดในภูมิภาค และมีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในภูมิภาค ถูกขัดขาดค่อนข้างสิ้นเชิง ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา สื่อสาร และการคมนาคม ธุรกิจของเมืองใหญ่หยุดชะงัก”

มิติที่สาม เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่มีระบบชัดเจนขึ้น การเกิดขึ้นมีอยู่เสมอ กลายเป็นปัญหาร่วมกันทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงทั้งชุมชนเกษตร ชนบท หัวเมืองและเมืองเข้าด้วยทั้งในแง่ความเสียหาย ความขัดแย้ง และความร่วมมือ

วิกฤติการณ์น้ำท่วม กลายเป็นปัญหาระดับชาติไปอย่างแท้จริงแล้ว อาณาบริเวณของประเทศต้องเผชิญหน้าเกือบทุกปี มีระดับที่รุนแรงแตกต่างกัน ฯลฯ   เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องมีการศึกษา วางแผน มียุทธ์ศาสตร์ และกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในระดับประเทศ อย่างมีเชื่อมโยงกันแล้ว”

โมเดลใหม่

ในบทความสองชิ้นที่อ้างถึงข้างต้นได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างกว้างๆ คราวนี้จะพยายามเสนอเพิ่มเติม ให้มีเค้าโครงมากขึ้น

สำหรับประเทศในป่าฝนเขตร้อน ซึ่งฝนยังตกต้องตามฤดูที่ควรจะเป็นโดยเฉลี่ย      กับแนวโน้มกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมุมมองที่กว้างขึ้น      ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและส่งแวดล้อม สัมพันธ์ อย่างสมดุล กับยุทธ์ศาสตร์แหล่งผลิตอาหารของโลกสมัยใหม่

ระบบเศรษฐกิจที่ว่านี้   มีความสัมพันธ์กับถนน-แม่น้ำลำคลองอย่างสมดุล

การพัฒนาแม่น้ำลำคลองเดิม    การสร้างแม่น้ำ ลำคลองใหม่ ทั่วประเทศ  เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ด้วยแนวคิดเข่นเดียวกันถนน  โดยเชื่อมโยงไปยังเขื่อน แหล่งน้ำ หรือระบบน้ำสำคัญอื่นๆ(เช่น ระบบชลประทาน)ที่มีอยู่ในขอบเขตทั่วประเทศ

ที่สำคัญการเชื่อมโยงกับระบบการระบายน้ำท้ายเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหลาย ด้วยการขยายขนาดของแม่น้ำ -ลำคลองให้กว้างและลึกขึ้น ทั้งเชื่อมโยงกับเครือข่ายแม่น้ำลำคลองทั้งแนวขวางตะวันออก-ตะวันตก และเหนือลงใต้ เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำในกรณีอุทกภัย  กระจายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร แม้กระทั่งการกระจายน้ำเพื่อสร้างความสมดุลกับระบบนิเวศน์บริเวณแม่น้ำ-ลำคลอง

เครือข่ายแม่น้ำ ลำคลองใหม่ด้วยการการจัดการเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแดล้อม กับระบบเศรษฐกิจริมน้ำใหม่ เป็นทางเลือกและสร้างสมดุลโดยรวมมากขึ้น   ชุมชนใหม่นี้จะเป็นโมเดลและบทเรียนสำหรับการพัฒนา และปรับเปลี่ยน ชุมชนริมน้ำดั่งเดิมให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น (Regeneration)

ระบบการสร้างเขื่อนปิด-เปิดกั้นแม่น้ำ ด้วยเทคโนโลยี่ว่าด้วยการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็น และเป็นส่วนประกอบสำคัญของแม่น้ำ ลำคลองสมัยใหม่ ทั้งในการระบายและกักเก็บไว้ในฤดูแล้ง  เท่าที่ผมเดินทางไปต่างจังหวัดหลังช่วงน้ำท่วมไม่ถึงเดือน  พบว่าแม่น้ำ ลำคลองเคยสร้างปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงนั้น   ระดับน้ำลดลงอย่างมาก เสียจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้

ระบบนี้จะกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ทั่วประเทศให้มากที่สุดแทนที่จะปล่อยลงทะเล  เพื่อประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งทางเศรษฐกิจ  สังคมและสิ่งแวดล้อม 

ขณะเดียวระบบเขื่อนในแม่น้ำ สามารถอำนวยประโยชน์ในการคมนาคมทางน้ำได้อย่างคล่องตัวด้วย  ทั้งเชื่อมสู่เครือข่ายแม่น้ำ-ลำคลองอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงชุมชนต่างๆ  รวมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับระบบถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

เครือข่ายแม่น้ำ ลำคลอง เป็นเครือข่ายคมนาคม ขนส่ง มีระบบการบริหารจัดการอย่างจริงจัง มิใช่เพียงทางเลือก หากเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกับระบบถนนด้วย

 ระบบการการจัดการที่ว่านี้อยู่บนพื้นฐานใหม่  

หนึ่ง-ขยายความคิดว่าด้วยผังเมือง มาใช้กับการวางผังริมถนนและผังริมแม่น้ำ    โดยกำหนดการใช้พื้นที่อย่างเป็นระบบ

สอง-เปิดพื้นที่และโอกาสใหม่ที่กว่างขึ้น   ในมติทางสังคม—เปิดพื้นที่ใหม่สำหรับที่อยู่อาศัยและชุมชน ระดับและขนาดต่างๆ ตามสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม  สวนสาธารณะ กิจกรรมทางวัฒนธรรม ทางสัญจรไม่เพียงลงเพื่อรถยนต์ หากรวมการเดินทางเท้า ทางจักรยาน ฯลฯ  รวมทั้งเชื่อมเครือข่ายถนนเข้าถึงบริเวณแม่น้ำลำคลองอย่างเป็นระบบ    มิติทางเศรษฐกิจ– สนับสนุนและเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ที่มีลักษณะผสมผสานมากขึ้น ตั้งแต่การเกษตรดั้งเดิม และสมัยใหม่ (รวมการประมงด้วย) หัตถกรรม  พาณิชย์  การท่องเที่ยว  การประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ    และมิติสิ่งแวดล้อม – เพิ่มพื้นที่สวน ปลูกป่า และภูมิทัศน์ เป็นการฟื้นฟู สภาพแวดล้อมทาง ธรรมชาติ ซึ่งเครือข่ายแม่น้ำลำคลองเอื้อต่อแนวคิดนี้อย่างมาก แม้ว่าจะสามารถทำได้มากกว่าถนน แต่ถนนก็พัฒนาตามแนวคิดนี้ได้ทั้งระบบถนนทั่วไป และระบบถนนที่เชื่อมโยงเครือข่ายแม่น้ำ-ลำคลองโดยตรง

สาม-บริหารกิจการใช้เครือข่ายน้ำลำคลองอย่างเป็นระบบ  เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทุกกลุ่มอย่างแบ่งปัน ด้วยระบบจัดสรรอย่างเท่าเทียม   ขณะเดียวกัน มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแล  รักษา และพัฒนาเครือข่ายแม่น้ำ- ลำคลอง  เช่นเดียวกับการจัดการกับเครือข่ายถนนด้วย

แนวคิดว่าด้วยผังและออกแบบถนนยุคใหม่ ผมเคยเขียนไว้แล้วนานพอสมควร และสามารถนำมาเชื่อมโยงกับความคิดของเรื่องนี้อย่างดี  ( ยุทธ์ศาสตร์ถนน)

 “Connection &Opportunity ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมเกิดขึ้นจากการพบปะ สนทนา มีกิจกรรมต่างๆร่วมกันโดยตรง เป็นความสัมพันธ์พื้นฐานของสังคม แม้วาปัจจุบันแม้ว่าจะมีโทรศัพท์มือถือ มี Social network เชื่อมผู้คนทั้งโลกเข้าด้วย   แต่พื้นฐานที่จำเป็น– ถนนมิใช่เพียงคอนกรีต หากเป็นเครือข่ายที่มีชีวิต เชื่อมผู้คนเข้าด้วยอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยเฉพาะในชนบทกันเอง หรือกับชุมชนเมือง ความสามารถ และอิสรภาพของผู้คนในเรื่องนี้สำคัญมาก”

Community-centered   สังเกตการณ์(Research and Observation)กันอย่างจริงจัง  ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในมิติที่กว้าง กระทบต่อผู้คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนในบริเวณถนนเส้นนั้นตัดผ่าน การศึกษาวิถีชีวิต ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย   โอกาสทางเศรษฐกิจ ฯลฯ แล้วนำความเข้าใจในมิติกว้างขึ้น  มาเป็นโจทย์ของออกแบบถนนให้สอดคล้องและเอื้อกับกลุ่มคนทุกฝ่าย โครงสร้างชุมชน ประกอบด้วย โรงเรียน มีวัด ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากสัญจรในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง      เส้นทางการเดินทางเท้าและขี่จักรยานระหว่างหมู่บ้าน   การขับรถอีแต้นและการเลี้ยวสัตว์ ล้วนเป็นกิจกรรมจำเป็นต้องใช้ถนนชนบทด้วย   เพิงขายสินค้าท้องถิ่น กับร้านค้าเครือข่ายก็อยู่อยู่ริมถนน  ฯลฯ”

“Communication strategy ริมถนนเปิดพื้นที่อย่างเต็มที่ในการสื่อสารกับกลุ่มคนต่างๆ ที่ผ่านทาง   มีข้อมูลมากมาย กระจัดกระจาย ไร้ระเบียบ แต่ส่วนใหญ่เป็นป้ายการโฆษณาขายสินค้า   การจัดระบบข้อมูลและการออกแบบที่ดี (Information& signage) มีความจำเป็น โดยเฉพาะเพิ่มเติมด้วยข้อมูลท้องถิ่น ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณสถาน หัตถกรรม เกษตรกรรม แหล่งทองเที่ยว ฯลฯ สะท้อนบุคลิกชุมชนอย่างสำคัญมากขึ้น”

ความท้าทาย

เส้นทางสายนี้ ย่อมเป็นความท้าทายใหม่ครั้งใหญ่ของการบริหารรัฐ  

แนวทางหลักการบริหารรัฐไม่ใช่งานประจำ หรืองานด้านเทคนิค บางคนทีมองโลกในแง่ร้ายมักว่ากันว่า ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าจะมีมาก มักเป็นเทคนิคในระบบราชการ และการเมือง   ล้วนเชื่อมโยงกับการคอร์รับชั่นไม่มากก็น้อย    

การดำเนินยุทธ์ศาสตร์สำคัญครั้งใหม่นี้ สาระสำคัญประการหนึ่ง ความท้าทาย และความคิดสร้างสรรค์ในมิติทางเศรษฐกิจ  ในกระบวนการแบ่งปัน และจัดสรรผลประโยชน์ครั้งสำคัญครั้งใหม่อย่างซับซ้อนและเป็นธรรม ท่ามกลางความขัดแย้งหลายมิติ โดยเฉพาะระหว่างเมือง  หัวเมือง และชนบท

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: