ปตท.เป็นบริษัทระดับโลกไปแล้ว ไม่เพียงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ติดอันดับโลก หากเป็นบริษัทที่มีมิติความเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างที่ไม่มีบริษัทไทยเคยเป็นมาก่อน
ในหลายตอนของข้อเขียนชุดนี้ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจะดับโลกของปตท.มาบ้างแล้ว สามารถแบ่งออกเป็นสองขั้นตอน
หนึ่ง-ธุรกิจพลังงานอย่างปตท.เป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพิง และอ้างอิงกับแหล่งพลังงานต่างๆในระดับโลก ในฐานะประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันรูปแบบต่างๆในสัดส่วนสูงสุดของบรรดาสินค้านำเข้าทั้งหมด ความสัมพันธ์กับเครือข่ายตลาดระดับโลกเหล่านี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างมันคงในยุคแรกๆของปตท.
สอง-เนื้อในของความเป็นธุรกิจ เมื่อปตท.ก้าวผ่านจากผู้นำเข้าพลังงาน ผู้จัดจำหน่ายในประเทศไปสู่วงจรต่างๆของธุรกิจพลังงาน ล้วนต้องเริ่มต้นอาศัยเทคโนโลยี่ของคนอื่น บทเรียน ความรู้และ เทคโนโลยีในวงจรต่างๆของธุรกิจพลังงานล้วนเป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่มีราคาแพง
จากข้อมูลทางการเงิน(ตารางประกอบบทความ) แสดงให้เห็นยุทธศาสตร์สำคัญของปตท.ในหลายแง่มุม
–นอกจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)( PTT) ในฐานบริษัทหลักซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังมีอีก2 บริษัทในเครือคือ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)—ปตท.สผ.หรือ PTTEP และพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) — PTTGC มองอย่างคร่าวๆย่อมเข้าใจได้ทันทีว่า ทั้งสองเป็นกิจการหลักสำคัญของปตท. เป็นกิจการที่สะท้อนความเป็นธุรกิจทีมีบุคลิกเฉพาะที่น่าสนใจ
–ทั้งPTTEP และ PTTGC ถือธุรกิจสองกลุ่มใหม่ข้ามผ่านจากความเป็นองค์กรพื้นฐานจากความเป็นกิจการพลังงาน ที่มีความสัมพันธ์ระดับโลกสองขั้นตอนตามที่กล่าวข่างต้น
ปตท.สผ. หรือPTTEP ผ่านระยะการเรียนรู้และก้าวกระโดดครั้งสำคัญ โดยใช้เวลาไม่นานนัก ความภาคภูมิใจเป็นพิเศษของปตท.สผ. มาจากความพยายามที่ใช้เวลา 13 ปี ปี 2541 ปตท.สผ.สามารถเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (operator) ในโครงการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มรูปแบบ ถือเป็นความต่อเนื่องสำคัญในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความสามารถ และจำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมาก ปตท.สผ.แสวงหาทางออกด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนหน้านั้น (ปี 2536) ถือว่าเป็นจังหวะก้าวที่ดีที่เดียว (รายละเอียดของปตท.สผ. ในยุคต้นๆ โปรดอ่านจากเรื่อง ปตท.(6) สู่ธุรกิจต้นน้ำ )
ผมเคยกล่าวเป็นความคิดรวบยอด อรรถาธิบายความเป็นไปของปตท.สผ.ข้างต้นไว้เพิ่มเติม
“ปตท.จัดตั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(ปตท.สผ ) เพื่อดำเนินการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ถือว่ามีความสำคัญทั้งโมเดลกิจการ และการเข้าสู่วงจรตั้งต้นสำคัญ จากจุดเริ่มต้นในฐานะHolding company เข้าถือหุ้นในกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติ จนพัฒนาตนเองกลายเป็นผู้ดำเนินการทังหมด (operator) ในเวลาต่อมา อีกด้านหนึ่งปตท.ถือหุ้น 100% ในปตท.สผ ถือเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ เป็นโมเดลที่น่าสนใจ รวมทั้ง ปตท.สผ.เข้าตลาดหุ้นในปี2541 ถือเป็นบทเรียนความสำเร็จสำคัญในการระดมทุนจากตลาดทุน เป็นการชิมลางก่อนปตท.จะเข่าสู่ตลาดหุ้นในเวลาต่อมา” ( อ้างจากเรื่อง ปตท.(1) ภาพกว้าง)
ในบทความตอนนี้ได้ขยายจินตนาการบทบาทปตท.สผ.ไปไกลกว่านั้นอีก ไปสู่ความเป็นกิจการระดับโลก ซึ่งสะท้อนภาพเป็นบุคลิกของ ปตท.โดยตรงด้วย
โครงการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมของปตท.สผ. เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในฐานะต้นน้ำของวงจรธุรกิจ มีความจำเป็นต้องมีฐานอย่างมั่นคง เป็นแผนการที่ต้องมองระยะยาว ถือเป็นยุทธศาสตร์และแก่นของความเป็นธุรกิจพลังงาน เป็นทั้งแรงกดดันและแรงบันดาลใจ ซึ่งข้อเขียนมากกว่า 10 ตอนบ่งชี้ชัดเจน ถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นของปตท.อย่างไม่ต้องสงสัย
โครงการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมของปตท.สผ.ดำเนินไปอย่างเข้มข้นภายในประเทศและพื้นที่คาบเกี่ยว ทั้งบนบกและในทะเล เกือบๆ 20 โครงการ ปตท.สผ.สามารถเป็นผู้ดำเนินการเองได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออยู่ในฐานะหุ้นส่วนของโครงการซึ่งดำเนินการโดยบริษัทพลังงานระดับโลก อาทิ Total Chevron Exxon Mobil Hess นอกจากนี้ในเกือบทุกโครงการยังมีผู้ร่วมทุนระดับโลกอีกหลายราย เช่น Mitsui Exploration( MOECO ) JX Nippon Oil & Gas Exploration Corporation BG Asia Pacific Pte Limited ที่แตกต่างจากนั้น มีโครงการคาบเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นต้องตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-มาเลเซียเข้ามา ดำเนินการ(CARIGALI-PTTEPI Operating Company Sdn. Bhd.)
เครือข่ายต่างประเทศ ส่วนใหญ่เพิ่งดำเนินการมาในช่วงไม่เกินทศวรรษมานี้ ครอบคลุมในพื้นที่สำคัญในระดับภูมิภาคมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่ พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนิเชีย ระยะหลังๆได้ขยายพื้นที่กว้างขึ้น ตั้งแต่ที่นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ถึงตะวันออกกลางที่โอมาน อาฟริกา ไปจนถึงอเมริกาเหนือที่แคนาดา รวมทั้งหมดเกือบ 30 โครงการ
โมเดลการสร้างเครือข่ายในระดับโลก เริ่มต้นจากประสบการณ์ในระดับภูมิภาคเป็นสำคัญ จากความร่วมมือกับหุ้นส่วนที่ร่วมมือกันมาก่อนในประเทศไทย เนื่องจากหุ้นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะ Chevron และ Total มีโครงการในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ที่สำคัญ คือ เวียดนาม และ พม่า เริ่มต้นจากฐานะหุ้นส่วน (มิได้เป็นผู้ดำเนินการ) ปตท.สผ. จึงมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ได้รับสัมปทานเพิ่มเติม เป็นของตนเองและก้าวขึ้นเป็นผู้ดำเนินการเอง
นั่นคือขั้นตอนในการสะสมประสบการณ์ การสร้างเครือข่ายนอกประเทศ ตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์กับรัฐ การพัฒนาและแสวงหาบุคลากรที่มีความสามารถทำงานในเครือข่ายต่างประเทศ เข้าใจว่าเป็นยุทธศาสตร์มีความสำคัญมากเป็นพิเศษในปัจจุบัน รวมไปถึงการแสวงหาผู้ร่วมทุน- เทคโนโลยี่ทีเหมาะสม เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการที่ดำเนินการในช่วงต้น ๆ มักโครงการอยู่ในระยะลงทุน และระยะสำรวจ มากกว่าโครงการมีผลผลิตออกมาแล้ว
ระยะใกล้ๆนี้ ขณะที่ดูเหมือนปตท.และปตท.สผ.มีความมั่นใจ มุ่งขยายการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวก็พยายามจัดแผนการลงทุนในต่างประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้น ความพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจต้นน้ำออกไปอย่างกว้างขวาง มากกว่าระดับภูมิภาค มักดำเนินตามแผนการเข้าร่วมและเข้าซื้อโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่งอยู่ในช่วงใกล้ดำเนินการผลิต หรือที่ผลิตแล้ว ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆด้วย
อาทิ โครงการในระยะสำรวจ ที่นิ่วซีแลนด์(นอกชายฝั่งของเกาะใต้) และที่อียิปต์ ที่เริ่มต้นลงนามสัญญาตั้งแต่ปี 2550 เข้าถือหุ้นในสัดส่วนพอสมควร โดยมีพันธมิตรใหม่เป็นผู้ดำเนินการ อย่าง Shell NZ และ Edison International SPA หรือโครงการที่เริ่มผลิตแล้วตั้ง2554แต่ปี ที่คานาดา โดยเข้าถือหุ้น 40% โดยมี Standard oil Canada เป็นผู้ดำเนินการ
ที่ฮือฮาก็คือเข้าซื้อกิจการ Cove Energy ซึ่งมีเครือข่ายการสำรวจและผลิตขนาดใหญ่ในอาฟริกา และแถบทะเลเมอดิเตอเรเนียน
ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์อันเร้าใจ ในออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่มากในเครือข่ายของปตท. ซึ่งมีปัญหาต้องแกไข เช่นเดียวกิจการพลังงานระดับโลกบางรายประสบ “เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท Coogee Resources Limited หรือ CRL ซึ่งดำเนินธุรกิจและร่วมทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ แหล่งมอนทารา จาบิรูและชาลลิส และแคช/เมเปิ้ล เป็นต้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552
แหล่งมอนทารา : อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อทำการผลิตน้ำมันในปลายปี 2552 อย่างไรก็ตามได้เกิดเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลระหว่างการเจาะหลุมพัฒนา (มอนทารา H1) และ ในเวลาต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณแท่นเจาะ West Atlas ซึ่งเป็นของผู้รับเหมา รวมถึงแท่นผลิต (Wellhead Platform) ของปตท.สผ. ทำให้ไม่สามารถเริ่มทำการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย และสามารถหยุดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายซึ่งรวมถึง ในส่วนของแท่นผลิต โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในกลางปี 2554”รายงานของปตท.สผ. กล่าวกึงโอกาสและปัญหาของหนึ่งในทั้งหมด 14 แปลงสัมปทานที่ปตท.สผ.เข้าซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2552
แม้ภาพข้างต้นจะเป็น “จิ๊กซอร์”ชิ้นใหญ่ แต่ก็ยังอีกบางชิ้นทีควรกล่าวถึงอีกตอน
ข้อมูลทางการเงินสำคัญของกลุ่มปตท.
(ล้านบาท)
สินทรัพย์ ปี 2552 2553 2554 2555ไตรมาส3
PTT 1,103,589 1,249,147 1,402,412 1,603,200
PTTEP 300,710 342,219 447,842 532,060
PTTGC 372,966 424,737
รายได้
PTT 1,622,078 1,943,858 2,475,494 2,097,408
PTTEP 120,338 147,572 173,449 158,745
PTTGC 106,775 423,909
กำไร
PTT 59,547 83,087 105,296 81,953
PTTEP 22,153 41,738 44,748 43,547
PTTGC 2,113 23,613
จาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ