“จะต้องประสมประสานความรู้อันแข้งเข็ง กับการสร้างคนที่มีความพร้อมหลายมิติ โดยมีความสามารถในการทำงานร่วมกับชนเผ่าอื่นๆของโลก สร้างมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์และรู้จักในชีวิตในโลกยุคใหม่ ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ การใช้ชีวิตอย่างสมดุลระหว่างสังคมและตนเอง แสวงความสุขจากความเข้าใจในเรืองศิลปะ วัฒนธรรม ร่วมถึงการเสริมสร้างสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ “
หนังสือเล่มนี้มีความเชื่อและให้ความสำคัญการศึกษาระดับมัธยม (ผมจะใช้คำนี้ในหนังสือเล่มนี้โดยรวม แม้ว่าในต่างประเทศจะเรียกอย่างไร ไม่ว่าHigh schoolหรือ Secondary School) เป็นโมเดลความคิดในการพัฒนาการสร้างทรัพยากรสำคัญของสังคมในการสร้างฐานการศึกษาในระดับสูงต่อไป แม้ว่าความคิดรวบยอดหรือแนวทางเช่นว่านี้ มิได้มีเพียงเส้นทางเดียวก็ตาม
ข้าราชการ
ในประวัติศาสตร์ราชการไทย หนังสือเล่มนี้เชื่อว่าบุคลากรที่ศึกษาต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยม นับเป็นการวางรากฐานทีดีในการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก อันนำมาประสพความสำเร็จในชีวิตราชการ นั่นคือมิติที่หนึ่ง อีกมิติหนึ่งที่สำคัญมาก พวกเขาเหล่านั้นมักจะทำงานในหน่วยงานที่ต้องติดต่อกับสังคมโลกมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทมาแต่ไหนแต่ไรมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ขณะที่กระทรวงการคลังก็มีบทบาทมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งเมื่อระบบเศรษฐกิจไทยผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก กระทรวงพาณิชย์ก็เช่นเดียวกันจะต้องเตรียมบุคลากรจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการค้าต่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ฯลฯ แน่ล่ะจากการศึกษาของผม(หลังจากสงครามโลกครั้งทีสองเป็นต้นมา) พบว่าบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่คือทายาทของชนชั้นนำในอดีตไม่ว่าทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ พวกเขาเป็นจำนวนคนไม่กี่คนในสังคมที่มีความสามารถในการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสของพวกเขาในสังคมไทยมากขึ้น มีเพียงจำนวนไม่มากนักที่เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง มาจากครอบครัวหลากหลายมีโอกาสเช่นนั้น
ตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้ยกมาจำนวนหนึ่ง อาทิ หม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี นิตย์ พิบูลสงคราม และศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ แห่งกระทรวงต่างประเทศ บัณทิต บุณยะปานะ และหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล แห่งกระทรวงการคลัง พชร อิสรเสนา ณ อยุธยา แห่งกระทรวงพาณิชย์ เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และประภาส จักกะพาก แห่งกระทรวงอุตสาหกรรม
พึงสังเกตว่า มีเพียงกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้ ที่ยังคงโมเดลนักเรียนที่ผ่านการศึกษาต่างประเทศตั้งแต่ต้นไว้อย่างต่อเนื่องจนตราบเท่าทุกวันนี้ในตำแหน่งสำคัญ ส่วนกระทรวงอื่นๆโมเดลเช่นว่านี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้วประมาณ10ปี ส่วนใหญ่ตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำกระทรวงเหล่านั้น ล้วนมาจากผู้ผ่านการศึกษาขั้นต้นในประเทศไทย อันเป็นไปได้ว่าเป็นผลพวงมาจากภาคธุรกิจเติบโตกว่าราชการ และมีรายได้สูงกว่า ทำให้โมเดลบุคคลการเดิมที่อยู่ในภาคราชการเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคเอกชนไปแล้ว
อีกประการหนึ่งสังคมไทยหลากหลายมากขึ้น มีการเปลี่ยนรุ่นของชนชั้นนำในสังคม โมเดลการส่งลูกหลานเข้าสู่โรงเรียนชั้นดีในต่างประเทศ ไม่ใช่เพียงโมเดลเข้มข้นชัดเจนอีกต่อไป ขณะเดียวสถานการณ์ระดับโลกที่เข้ามาสัมพันธ์กับสังคมไทย มิได้เป็นไปลักษณะคุกคามอย่างรุนแรงเช่นยุคอานานิคม ต่อเนื่องจนถึงสงครามโลกครั้งที่สองฝังในใจชนชั้นนำ มายาวนานพอสมควร
ผู้ประกอบการ
ในยุคอาณานิคมต่อเนื่องมาในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ประกอบไทยเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกับสมาชิกราชวงศ์ อิทธิพลของราชวงศ์มีต่อผู้ประอบการใหม่ในยุคนั้นมีอย่างมากรวมทั้งการศึกษาด้วย ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบยุคเก่าสะสมทุนมาพอ ก็จะส่งบุตรหลานติดตามสมาชิกราชวงศ์ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตั้งแต่เด็ก ไม่เพียงสร้างโอกาสที่เพิ่มขึ้น สร้างชนชั้นทางสังคมที่สูงขึ้น พวกเขาจะกลายเป็นคนจำนวนไม่มากที่โอกาสและสิทธิพิเศษในระบบเศรษฐกิจไทยในยุคนั้น
เมื่อระบบเศรษฐกิจไทยเปิดขึ้น จากแรงบีบคั้นของระบบอาณานิคม การติดต่อกับอาณานิคม คือโอกาสอันกว้างขวางในการแสวงหาความมั่งคั่ง การเรียนต่างประเทศหรือเรียนโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากผลพวงของระบบอาณานิคมที่ลงรากฐานในสังคมไทยนั้น เท่ากับเปิดโอกาสที่กว้างขวางขึ้นอย่างต่อเนื่องมา
โอกาสเช่นนี้กว้างขวางขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เงินทุนจากระบบเศรษฐกิจโลกที่แปรรูปมาจากระบบอาณานิคม มาในรูปบริษัทขนาดใหญ่ของจากตะวันตกจนถึงญี่ปุ่น การร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับกิจการระดับโลกเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการที่มีโอกาสล้วนต้องผ่านการศึกษาอย่างดีโดยเฉพาะการศึกษาจากต่างประเทศ
การเติบโตของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่ผ่าน St.Stephen’s College โรงเรียนของChurch of Englandสอนเป็นภาษาอังกฤษที่ฮ่องกง เช่นกรณี เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่งสร้างธุรกิจอย่างหลากหลายจากร่วมทุนกับญี่ปุ่น โดยมีหลานอย่าง สมบัติ พานิชชีวะ ช่วยทำงานอีกคน หรือกรณีพงส์ สารสิน กับทรง บูลสุข ร่วมทุนกับกิจการสำคัญจากสหรัฐฯในการบุกเบิกกิจการน้ำดำในประเทศไทย เหล่านี้คือโมเดลแรกของผู้ประกอบการไทยที่มีความสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจโลกในลักษณะร่วมมือมากกว่า การบังคับหรือความจำเป็นในยุคก่อนหน้านี้
แม้แต่สมาชิกราชวงศ์บางคนที่ผ่านการศึกษาอย่างดีตามการสืบทอดทางความคิดเดิมนั้น ไม่สามารถมองเห็นอนาคตในราชการในโมเดลเดิม จึงมุ่งเมื่อเข้าสู่วิชาชีพเฉพาะ พวกเขาก็แสดงบทบาทได้อย่างดีเช่นกัน บทบาทและงานของเขาเป็นงานระดับโลกเช่นเดียวกัน เช่น สถาปนิกอย่าง หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล หรือผู้กำกับภาพยนต์อย่าง “ท่านมุ้ย” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
โมเดลนี้ยังคงทนจนถึงทุกวันนี้โดยพัฒนามากขึ้น บรรดาทายาทผู้ประกอบการที่จะดูแลธุรกิจของตนเองแม้จะไม่ใช่กิจการร่วมทุนกับต่างประเทศโดยตรง แต่ในระบบเศรษฐกิจใหม่ ธุรกิจไทยย่อมมีความสัมพันธ์กับต่างประทศมากขึ้น ตั้งแต่วิกฤติการณ์น้ำมันในราวปี2514เป็นต้นมา ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องมีความสามารถอย่างดีในการสื่อสารกับโลกภายนอก
ความจำเป็นในการเรียนรู้โลกภายนอกมิได้จำกัด อยู่แค่การศึกษาภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังรวมไปกับสร้างสายสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น เพราระบบเศรษฐกิจโลกมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น หลายมิติมากขึ้น
ตัวอย่างเหล่านี้มีมากมาย ไม่ว่า บัณฑูร ลำซ่ำแห่งธนาคารกสิกรไทย เป็นกรณีตัวอย่างของการปรับตัวของธนาคารไทยภายใต้การอุ้มชูของรัฐ มาสู่การสร้างธนาคารที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ หรือศุภชัย เจียรวนนท์ในฐานะผู้สานต่ออาณาจักรธุรกิจใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
มืออาชีพ
มืออาชีพในยุคเก่าล้วนมาจากนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง พวกเขาเมื่อผ่านการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกคนวงในของสังคม โอกาสในราชการเติบโตขึ้น และเมื่อมีโอกาสที่กว้างขวางในโลกธุรกิจ หลายคนก็ออกจากราชการ เข้าสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แนวโน้มเช่นนี้มากขึ้น เมื่อผลตอบแทนมากขึ้น
มีบางคนผ่านการศึกษาอย่างดีในต่างประเทศ ในช่วงบิดาของตนเองมีอำนาจในทางการเมือง แต่เมื่อเขากลับมา อำนาจนั้นหมดสิ้น เขาก็หันเหใช้ความรู้เป็นมืออาชีพหรือลูกจ้างบริษัทต่างชาติ เช่น กรณี ตุ้ม หุตะสิงห์ บุตรชายของนายกรัฐมนตรีไทยคนแรก พระยาปกรณ์นิติธาดา เป็นต้น ที่ทำงานกับบริษัทอเมริกันที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย ในยุคแรกของมืออาชีพไทยที่มีการศึกษาดี จะเริ่มทำงานกับบริษัทจากตะวันตก
บางคนมาจากครอบครัวคหบดี มีกิจการหรือมรดกเก่าจำนวนมาก แต่การบริหารกิจการเก่าดำเนินไปยังไม่จำเป็นต้องพัฒนามากนัก ทายาทที่ผ่านการศึกษาอย่างดีก็ไม่ประสงค์จะใช้ความรู้ที่เรียนมามากมายกับกิจการเล็กๆ เช่นกรณี ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์
โอกาสของมืออาชีพในอดีตมีไม่มากนัก เพราะพวกเขาไม่สามารถสะสมทุนมากพอจะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ แต่สถานการณ์ต่างๆย่อมเปลี่ยนแปลงไป ในหลายด้าน
ประการแรก ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มืออาชีพจำนวนไม่น้อย สะสมเงินทุนได้มากพอ ก็สามารถวางรากฐานให้กับบุตรหลายเช่นนั้นได้ เช่นกรณี ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ * แห่งเอกธำรงซึ่งเป็นคนแรกๆที่ข้ามจากการเป็นลูกจ้างธนาคาร ไปสู่การบริหารกิจการหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในฐานะมืออาชีพมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย ต่อมาสร้างกิจการใหม่เป็น บริษัทหลักทรัพย์ทรินีตี้ เขาสามารถส่งลูกๆของเขาไปเรียนระดับมัธยมที่มีชื่อเสียงและราคาแพงในสหรัฐโดยเข้าเรียนที่ The Taft School ในโมเดลเดียวกับ พีรศิลป์ ศุภผลศิริ ** แห่งไทยธนาคาร สามารถส่งลูกๆเขาเรียนโรงเรียนระดับมัธยมชั้นนำของโลก เป็นโรงเรียนเดียวกับ ธารินทร์ และศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ได้
นอกจากนี้ อภิรักษ์ โกษะโยธิน มืออาชีพที่ทำงานมาตั้งแต่เครือข่ายPepsi Coในประเทศ ไทยไปสุ่กิจการกใหม่ที่รุ่งเรืองของคนไทย อย่างแกรมมี จนกระทั่งบริษัทสื่อสารในเครือซีพี ปัจจุบันเขาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวเขาเองผ่านกศึกษาในเมืองไทยล้วนๆ เคยสมัครเรียนเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ แต่ไม่ทุนเรียน แต่ด้วยรายได้ของมือสาชีพยุคใหม่มีมากเพียงพอ ลุกชายคนเดียวของเขา จึงถูกส่งไปเรียนระดับมัธยมที่อังกฤษ ในโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจชั้นสูงไทยมานาน Dulwich College
อีกประการหนึ่ง ซับพลายมีความหลากหลายมากขึ้น มีโรงเรียนในประเทศที่สอนภาษาอังกฤษ พัฒนาระบบโรงเรียนตอบสนองชาวต่างชาติได้ดีขึ้น ในค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าสหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา ประเทศใหม่เหล่านี้เริ่มต้น จาก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไปสู่แคนาดา
แน่ละในสังคมหลากหลายปัจจุบัน ไม่ได้ยึดโมเดลเดิมในเชิงสังคมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจากความพยายามส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนชั้นดีของโลก มาสู่การแสวงหาโรงเรียนอย่างเหมาะสมมากขึ้น
มืออาชีพเหล่านี้ เริ่มต้นในยุคก่อน ด้วยการทำงานกับกิจการต่างประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ไปสู่กิจการที่ไทยที่มีรากฐานมากขึ้นในช่วงเกือบ100ปีที่ผ่านมา เป็นกิจการที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ทางสังคมที่มุ่งศึกษาตะวันตกอย่างเข้มข้น เพื่อเป้าหมายในการเรียนรู้ ในการดำรงภายใต้แรงกดดันของระบบอาณานิคมนั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นเมื่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจได้เริ่มปรับตัวเข้าบระบบอาณานิคมยุคใหม่ ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา การยอมรับของอาณานิคมยุคใหม่ไม่เพียงไม่รู้สึกว่าคุกคามแล้ว ยังมีลักษณะยอมรับ นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศเหล่านั้น ยุทธศาสตร์ทางสังคมที่ก่อตัวขึ้น ส่งผลทำให้ปรัชญาการศึกษาของรัฐหรือสังคมไทย ปรับเข้าสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า เรียนรู้ตะวันตกเพื่อปรับตัวหรือประยุกค์เข้ากับสังคมไทยในระดับกว้าง ในระดับบุคคล การเรียนจากตะวันตก ก็เพื่อเพิ่มโอกาสตนเองในประเทศไทยเท่านั้น
ความคิดใหม่
อย่างไรก็ตาม ปรัชญาของการศึกษาต่างประเทศของทั้งระบบราชการไทย และชนชั้นนำหรือผู้มีโอกาสในสังคมไทยในยุคผ่านๆมาในช่วง100ปีมานี้ ยังจำกัดอยู่ เพียงเพิ่มโอกาสของพวกเขาให้มากขึ้นในขอบเขตสังคมไทยเท่านั้น พวกเขาพยายามสร้างบันใดเข้าสู่ยอดของสังคมไทยที่มีอย่างจำกัดมากขึ้น ในโลกยุคปัจจุบัน
เท่าที่มีข้อมูล นักเรียนทุนของระบบราชการไทยอย่างน้อยในช่วง4-5ปีมานี้ พบว่านักเรียนทุนส่วนใหญ่ จะเป็นนักเรียนระดับสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป แนวความคิดเหล่านี้มาจากการศึกษาหาความรู้ จากต่างประเทศนำมาประยุกต์ในสังคมไทยเท่านั้น มีเพียงหน่วยงานรัฐบางแห่ง โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ทุนนักเรียนระดับปริญญาตรี ภายใต้ปรัชญาที่จะสร้างบุคลากร ให้มีความพร้อมในการติดต่อ เจรจา หรือสื่อสารกับสังคมภายนอกเท่านั้น
ภาพยุทธศาสตร์ใหญ่ของการศึกษาในต่างประเทศ ของสังคมไทย จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในความคิดและความเชื่อของหนังสือเล่มนี้หรือของผู้เขียน มุ่งมองไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการแข่งขันกับโลกภายนอกได้ ซึ่งมีความหมายหลายมิติทีเดียว
Globalization ในความหมายของผม เชื่อว่านี่คือปรากฏการณ์อันสลับซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยถึงรากฐานอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุกคามและเกื้อกูลกัน จัดระบบอย่างสอดคล้อง นับเป็นความจำเป็นครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากครั้งแรกที่สร้างแรงปะทะอย่างต่อสังคมไทยภายหลังสนธิสัญญาเบาริง นี่คือภาพใหญ่ของการปรับตัวของสังคมไทย ทั้งระดับกว้างและระดับบุคคล ในการสร้างทรัพยากรหรือชนเผ่าไทยให้สามารถดำรงชีวิต และความเป็นสังคมไทยที่มีบุคลิก และความรู้ความสามารถที่แตกต่างจากเดิม ในโลกที่เปลี่ยนโฉมหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ100ปีที่ผ่านมา
—เราจะต้องสร้างคนที่สามารถทำงานกับชนเผ่าอื่นๆได้ โดยไม่จำกัดพื้นที่ว่าจะอยู่ในประเทศไทย ในGlobalization มีปรากฎการณ์หนึ่งที่สำคัญก็คือ พื้นที่โอกาสและการทำงานในประเทศของคนไทยแคบลง วันนี้มีต่างชาติ คนต่างเผ่าเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพระดับบนสุดของวิชาชีพ หรืออาชีพระดับล่าง แม้กระทั่งอาชีพไม่พึงปรารถนา เช่น โสเภณี ยุทธศาสตร์สำคัญจากนี้ เราจะต้องเปิดโอกาสให้กว้างขวางขึ้นสำคัญคนไทยยุคจากนี้ โดยขยายพื้นที่และโอกาสให้กว้างขวางมากว่าประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคิดระดับภูมิภาคเป็นอย่างน้อย ในอนาคตการปฎิรูปการศึกษาไทย คงไม่จำกัดเฉพาะระดับพื้นฐานเท่านั้น ในระดับอุดมศึกษาเราจะต้องสร้างคนที่ทำงานได้อย่างน้อยระดับภูมิภาคขึ้นไป มิใช่ภูมิใจกับการการส่งช่างฝีมือระดับคนงานไปทำงานในตะวันออกกลาง นำเงินตราเข้าประเทศจำนวนแม้ว่าจำนวนไม่น้อย ในปัจจุบันนี้เท่านั้น
—-การเรียนระดับมัธยมศึกษาในต่างประเทศ สำคัญมากขึ้น สำหรับบุคลากรจำนวนหนึ่งในสังคมไทยเพื่อไม่เพียงเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างลึกซึ้งในการทำงานร่วมกับชนเผ่าต่างๆที่พยายามใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางมากขึ้น ยังจะต้องเรียนรู้วัฒนาธรรม การทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างแน่นแฟ้น สังคมนักเรียนในระดับมัธยมเป็นสังคมที่ “เข้าถึง”ชนเผ่าอื่นๆได้อย่างดี ไม่ใช่การเรียนระดับปริญญาโทขึ้นไป พวกเขาจำกัดตัวเองอยู่ในห้องเรียนและห้องสมุด เพื่อจะได้จบเร็วๆและกลับมาเมืองไทยเพื่อทำงาน ไต่เต้า หาเงินต่อไป
—โรงเรียนประจำในต่างประเทศเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะความหมายอย่างสำคัญของการศึกษาของนักเรียนต่างชาติ แม้ว่าในประเทศของเขาเอง มีความนิยมลดลงในการเรียนโรงเรียนประจำ ช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ แต่จากนี้ไปจะสำคัญมากขึ้น นั่นคือสถานที่สำคัญในการฝึกฝนให้ชนชาติต่างๆมีชีวิตร่วมกัน การสร้างระบบการใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผนมากขึ้น ในสังคมที่มี”อ่อนตัว”ในการสร้างวินัย และความรับผิดชอบ การเรียนวิชาการอย่างเข้มข้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโรงเรียนไปกลับ อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ในยุคผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานของตน โรงเรียนประจำตามโมเดลของPublic Schoolในอังกฤษและพัฒนาต่อเนื่องในสหรัฐ กลายเป็นโรงเรียนชั้นดี ค่าเล่าเรียนแพง ส่งผลกระทบถึงแคนาดา แล้วข้ามฟากมีที่ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้น เป็นระบบการศึกษา ที่ประสานวิชาการ เข้ากับการใช้ชีวีตอย่างสมดุล การออกกำลัง เล่นกีฬา ไปถึงปลูกฝั่งความเข้าใจด้านศิลปะดนตรี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้คนเรียนรู้ เข้าใจชีวิตของตนเองได้ดี และสามารถอยู่ในสังคมทั่วไปได้อย่างดี
—โมเดลในรูปแบบที่ชนชั้นนำยุคหลังสงครามโลกครั้งสองยึดมั่นในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีเลิศในระดับโลกนั้น กลายเป็นรูปแบบและกระแสนิยมในช่วงนั้นดูแข็งตัวมากเกินไป ซึ่งถือว่าล้าสมัยในยุคนี้ ยุคที่โอกาสของการศึกษา มุ่งไปสู่เป้าหมายในเชิงสาระมากขึ้น ทั้งนี้ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศหลักๆที่กล่าวมาข้างต้น มีมาตราฐานไม่แตกต่างกัน
การศึกษาเพื่อเข้าใจ ใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อในอนาคตในการทำงานร่วมกับหรือแข่งขันกันนั้น ด้วยการลงทุนส่งเยาวชนไทยไปศึกษาระดับต้นๆ ในต่างประเทศนั้น เป็นยุทธศาสตร์ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชาติ มิใช่เรื่องการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ ตามความคิดตื้นๆของคนบางคน แต่อย่างใดไม่
ความคิดใหม่นี้ อาจจะขยายไปถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรขององค์กรเอกชนด้วย
กรณีธนาคารกสิกรไทยและเครือซิเมนต์ไทยเป็นโมเดลหนึ่งซึ่งกำลังกลายเป็นผลผลิตมาจากโครงสร้างความคิดเก่า ธนาคารกสิกรไทยเริ่มให้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ(MBA) ในช่วงปี2509 ภายหลังบัญชา ล่ำซำ เข้าบริหาร บัญชาได้ชื่อว่ามีAmerican connection ที่เข้มข้นคนหนึ่งในวงการธุรกิจไทยในยุคใหม่ ความเชื่อระบบการศึกษาและการจัดการแบบอเมริกัน มีอิทธิพลต่อความคิดของเขาอย่างมาก ในยุคธนาคารไทยขยายตัว ขยายเครือข่าย ขยายธุรกิจในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทยเติบโตอย่างมาก คงต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งมาจากยุทธศาสตร์การสร้างคนเหล่านี้ ตั้งแต่ปี2509 จนถึงปี2545 ธนาคารกสิกรไทยให้ทุนเรียนปริญญาโท ส่วนใหญ่MBA แล้วเกือบๆ200คน ในยุคบัญชายังมีบทบาทบริหาร นักเรียนทุนทั้งหมด เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯทั้งสิ้น พอมายุคบัณฑูร ล่ำซำ ยุทธศาสตร์นั้นปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยให้ความสนใจในการศึกษาจากประเทศที่มิใช่สหรัฐมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี2536 เป็นต้นมา ประมาณครึ่งหนึ่งของนักเรียนเหล่านี้ถูกส่งไปเรียนที่ยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนี้วิชาการที่เคยเน้น การบริหารทั่วไป(General Management) บัญชีและการเงิน(Accounting & Finance) ก็ปรับแนวใหม่ ไปสู่การตลาด(Marketing)และธุรกิจระหว่างประเทศ(International Business)มากขึ้น
ส่วนเครือซิเมนต์ไทยเริ่มให้ทุนเรียนMBA ในราวปี2515 เข้าใจว่ามีอิทธิพลมาจากบัญชา ล่ำซำด้วย เพราะในปีนั้นเขาเข้ามาเป็นกรรมการปูนซีเมนต์ไทย ปัจจุบันมีนักเรียนทุนเหล่านี้กว่า100คน
แนวทางนี้ คือแนวทางในยุคโฟกัสตลาดในประเทศ เรียนรู้จากตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐมาประยุกต์เข้ากับสังคมไทย แข่งขันกับธุรกิจไทยภายใต้พื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์เช่นว่านี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจธนาคารต้องเข้าสู่การแข่งขันกับธนาคารต่างประเทศในพื้นที่ของตนเองอย่างเข้มข้นที่สุด ตั้งแต่ธนาคารไทยเกิดขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น เครือซิเมนต์ไทยไม่เพียงต้อเผชิญการแข่งขันกับธุรกิจระดับโลกในประเทศเท่านั้น ยังจำเป็นต้องออกสู่เวทีนอกบ้านอย่างจริงจังมากขึ้น นี่คือแรงกดดันใหม่ในการสร้างบุคลากรใหม่เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ใหม่
แนวทางที่หนังสือเล่มนี้เสนอ ย่อมนำมาใช้ได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกัน ในระดับบุคคล คนไทยที่สามารถ และมีโอกาสเช่นนั้น ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนระดับบุคคลเพื่อสร้างบุคลกรที่มี ความพร้อมในยุคGlobalization อันเป็นหน่วยเล็กๆที่จะเกิดภาพใหญ่เช่นกัน
เชิงอรรถ
*ภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์(30กันยายน 2492) เป็นบุตรผู้ประกอบการค้าขนาดกลางๆ เรียนจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เกียรตินิยม สอบชิงทุนธนาคารกสิกรไทยได้ เรียนไปไปเรียนMBA จากUniversity of Pensylvania รุ่นแรกๆ(ปี2514)ของธนาคาร จากการเรียนในต่างประเทศ ทำให้เขากลายเป็น”เลือดใหม่”ของธนาคารมีบทบาทมากมายในการทำงาน จนไต่เต้าขึ้นระดับสูงอย่างรวดเร็ว เมื่อเขาลาออกจากธนาคาร เขาคือMBA รุ่นแรกที่เข้าวงการหลักทรัพย์ในช่วงตลาดหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี2531-2535 เขาได้รับผลตอบแทนอย่างสูง บทเรียนของเขา ได้เปิดความคิดของเขากว้างขวางขึ้น พร้อมๆกับสังคมไทยเปิดกว้างขวาง ในช่วงเดียวกันนั้นโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นในประเทศมาก การแข่งขันกับดุเดือด โรงเรียนบางแก่งที่จำกัดในการับนักเรียนก็เปิดกว้างขึ้น จากจุดนี้เขามีโอกาสให้ลุกๆ เข้าเรียน ISB (International School of Bangkok) จนเป็นฐานให้ลูกๆของเขาเข้าสู่การศึกษาระดับสากลได้ และสามารถเข้าโรงเรียนดี ราคาแพงในสหรัฐ
**พีรศิลป์ ศุภผลศิริ(14 พฤษภาคม 2496) กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยธนาคาร มีบทเรียนจาการได้โอกาสการศึกษาอย่างดี ทำให้เขามีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่บิดาของเขาเป็นพนักงานธนาคารกสิรไทยระดับลางเท่านั้น แต่พยายามส่งเสียให้เขาเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นดี โรงเรียนอัสสัมชัญ ทำให้เขามีโอกาสสอบชิงทุนไปศึกษาต่อปริญญาตรีบริหารธุรกิจที่ญี่ปุ่น(Yokohama National University)ด้วยความพยายามยิ่งของเขาทำให้เขามีโอกาสมากขึ้น ผ่านงานด้านการเงินหลายกิจการ มรดกความคิดนี้ตกทอดมาถึงเขา เมื่อเขามีโอกาสเขาพยายามส่งเสียบุตรขอเขาเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำตั้งแต่ต้น เขามีความคุ้นเคยกับศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ เข้าใจกันว่ามีส่วนช่วยให้ลูกๆของเขาทั้งสามารถเข้าเรียนที่ Choate Rosemarry Hallได้