โรงเรียนมัธยมประเทศอื่นๆ

โรงเรียนมัธยมในต่างประเทศที่กล่าวถึง ก็คือโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ผู้คนที่มีโอกาสในสังคมไทยก็แสวงทางเลือกมากมาย  นอกจากประเทศหลักๆที่กล่าวมาแล้วก็ยังปรากฎอยู่บางประเทศ ที่น่าสนใจ อันเป็นผลพวงทางประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมกับระบบอาณานิคมยุคเก่า ส่วนใหญ่มาก่อนสงครามโลกครั้งที่1

ต้องยอมรับความจริงที่น่าทึ่งประการหนึ่งว่า ในยุคปัจจุบันคนไทยแสวงหาสถานที่เรียนเหล่านี้ให้กับบุตรหลาน อย่างกว้างขวางและหลากหลายที่สุด ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

 มาเลเซีย

แหล่งการศึกษาในย่านนี้ผูกพันกับการเข้ามาธุรกิจเหมืองแร่ของอังกฤษ ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่1 ชาวอังกฤษเหล่านี้ จึงสร้างโรงเรียนขึ้นเพื่อลูกหลานที่ผลัดถิ่นของเขา ต่อมาคนที่มีโอกาสค้าขายกับพวกเขา ก็มีสิทธิในการเข้าโรงเรียนเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของธุรกิจเหมืองแร่ในภาคใต้ของไทย

ผมไม่ข้อมูลแน่ชัดว่า มีใครเข้าโรงเรียนใดบ้าง เท่าที่มีหลักฐาน มีโรงเรียนบางแห่งที่มีประวัติศาสตร์ทำนองนี้ อาทิ  Penang Free School   หรือ International School ทีUpland เป็นต้น

Penang Free School (PFS) มีเรื่องราวในหนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 โดย Suehiro Akira กล่าวว่าชาวมาเลย์บางคนที่เข้าศึกษาโรงเรียนนี้ ทำให้เขามีโอกาสทำงานในบริษัทต่างชาติที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในย่านนี้   โดยบุคคลเหล่านี้เขาเมืองไทยทำงานในเมืองไทยราวปี2404ในช่วงปลายรัชการที่4 ขณะที่PFS ก่อตั้งเมื่อปี2359 เป็นโรงเรียนของเครือจักรภพที่ก่อตั้งก่อนอังกฤษเข้าครอบครองมาลายูประมาณ5-6ปี

ส่วนโรงเรียนที่Upland ผมค้นคว้าทางInternet พบว่ามีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันการเข้ามาเนินการเหมืองแร่ในมาเลเซีย ที่เชื่อมต่อกับภาคใต้ของไทย และถือเป็นโรงเรียนที่เอาการเอางานมากในขณะนี้ โรงเรียนหนึ่งของมาเลเซีย

 พัฒนาการของโรงเรียนนานาชาติในมาเลยเชีย ในช่วงใกล้มีไม่มากนัก   เพราะคนมาเลย์ที่มีฐานะส่วนใหญ่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนอังกฤษและออสเตรเลียกันมาก และความเป็นศูนย์กลางการเรียนนานาชาติในเอเชียอาคเนย์ก็ลดบทบาทไปมาก ขณะที่โรงเรียนนานาชาติในประเทศเติบโตขึ้น การเกิดขึ้นของ Dulwich international college(ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลง  กดที่นี่อ่านต่อ) ที่ภูเก็ตถือว่าคุกคามความสำคัญของโรงเรียนในมาเลเชียมากทีเดียว

 อย่างไรก็มีพัฒนาการบางอย่างเกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน

หนึ่ง  มีโรงเรียนนานาชาติใหม่ที่ใช้หลักสูตรออสเตรเลียเกิดขึ้น และขยายตัวพอสมควร เข้าใจว่าเพื่อเชื่อมโยงกับความนิยมของคนมาเลย์ที่ส่งบุตรหลานไปเรียนระดับปริญญาตรีในออสเตรเลีย โดยเฉพาะ Australia International School, Malaysia

 สอง โรงเรียนนานาชาติในมาเลเชียมองตลาดในประเทศไทยดีด้วยเช่นเดียวกัน Garden International Schoolก่อตั้งมาแล้ว มากว่า50ปี   ได้มาลงทุนในประเทศเปิดที่นิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ในโครงการร่วมทุนกับกลุ่มสตาร์บล็อก ซึ่งมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานประโรงเรียน ทั้งนี้ยังเปิดสาขาในกรุงเทพฯด้วย กลับกลายเป็นว่าโรงเรียนเดียว ที่อานันท์ ปัณยารชุนได้เขียนบทนำไว้ในเอกสารและwebsiteของโรงเรียน ขณะที่ Dulwichที่ภูเก็ต เขาไม่ได้ทำเช่นนั้นเลย

 สิงคโปร์

เท่าที่ผมมีข้อมูลพบว่า มีเทียม และซิว กาญจนจารีที่เคยไปเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ชื่อ  St.Andrew’s Schoolที่สิงคโปร์ในราวปี2470  ทั้งสองพี่น้อง คนแรกเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอินจิเนียริงหรือไออีซี  ผู้ริเริ่มจำหน่ายเครื่องไฟฟ้าจากสหรัฐ  ต่อมาขายกิจการให้เครือซิเมนต์ไทยและเครือซิเมนต์ไทยขายออกไปอีกทอดหนึ่ง ปัจจุบันเป็นตัวแทนในการขายและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นงานหลัก  ส่วนซิว ผู้ริเริ่มขายเครื่องไฟฟ้าจากญี่ปุ่น ต่อมาร่วมทุนกับญี่ปุ่นในการขยายกิจการก้าวหน้าไป ดูเหมือนจะก้าวหน้ากว่าไออีซี จากประสบการณ์สำคัญนี้ น่าจะมีส่วนทำให้เขาคิดและวางแผนส่งลูกสาวและลูกชาย(เมธวดี และพรเสก) เรียนต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา

 จากนั้นมีก็มีคนไทยไปเรียนโรงเรียนนี้อีกบ้าง โดยเฉพาะสุกิจ ปัจฉิมสวัสดิ์  ก่อนที่จะไปเรียนที่Melbourne Grammar School เข้าผ่านระดับประถมที่ St.Andrew’s School ในช่องก่อนกึ่งพุทธกาลเล็กน้อย

St.Andrew’s Schoolเป็นโรงเรียนเก่าแก่แห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของ Church of England หรือAnglican ก่อตั้งเมื่อ1862หรือประมาณ140ปีมาแล้ว ปัจจุบัน ระดับมัธยมย้ายไป อยู่ย่านที่พัฒนาใหม่ที่เรียกว่าPutong Pasir

ในยุคใหม่สิงคโปร์ถือเป็นเครือข่ายของAustralia International school ด้วยกันเหมือนกัน ขณะที่นักลงทุนจากสิงคโปร์มาลงทุนในเมืองไทย เปิดโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตรสิงคโปร์เช่นเดียวกัน Singapore international School Bangkok ทั้งนี้อรรถาธิบายได้ เช่นเดียวกับ กรณี มาเลเชีย

 นิวซีแลนด์

ประเทศนี้เป็นประเทศที่เล็กและเงียบมาก คนไทยในยุคนั้นไม่มีใครมองไปถึง  เท่าที่ผมสนทนากับนักเรียนประเทศนี้หลายคน มักจะเล่าว่าการเข้าถึงของนักเรียนในการศึกษาระดับมัธยมที่นิวซีแลนด์มักจะเกิดขึ้นหลังปี2500 โดยเริ่มจากสมมติฐาน 2ประการ

ประการแรก นักธุรกิจบางคนที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับออสเตรเลีย และมีโอกาสเดินทางผ่านไปนิวซีแลนด์ ก็เกิดประทับใจภูมิประเทศของประเทศ จึงตัดสินใจส่งบุตรหลานมาเรียน    เทียนชัย ลายเลิศ*ซึ่งมีความสัมพันธ์ กับกลุ่ม ยิบอินซอย ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทางภาคใต้ที่มีโอกาส สัมพันธ์กับบริษัทดำเนินกิจการเหมืองแร่ของอังกฤษ ซึ่งมีกิจการในออสเตรเลียด้วย

อีกประการหนึ่งการริเริ่มให้ทุนนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนาให้ไปเรียนระดับปริญญาตรีหรือโทของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ภายใต้ Colombo Plan  เท่ากับเปิดประตูประเทศให้เกิดการเข้ามาเรียนของนักเรียนต่างชาติในราวปี2505 ซึ่งประกอบด้วย ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช  อนุมงคล-ธัญญา ศิริเวทิน  เป็นต้น ทำให้คนไทยมีโอกาสเรียนลงสู่ระดับมัธยมได้    กรณีดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช ไปเรียนปริญญาตรี  ทำให้ ชัยศิริ สมุทวนิช น้อยชายมีโอกาสเข้าเรียนที่Scot College ในระดับมัธยมในเมืองWellington ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนรากฐานมาจากกลุ่มสอนศาสนา ซึ่งเป็นรุ่นน้อง เทียนชัย ลายเลิศ หรือบางคนมีโอกาสไปประชุมที่นั่น  กรณีน่าจะได้เกี่ยวกับการไปเรียนระดับมัธยมของเกริกเกียรติ ชาลีจันท์ อะไรเทือกนี้  เกริกเกียรติ เป็นรุ่นน้องโรงเรียนเดียวกันกับชัยศิริ

จากข้อมูลของชัยสิริ สมุทวณิช  นักเรียนเก่านิวซีแลนด์ ในระดับมัธยมที่น่าสนใจ จำนวนหนึ่ง อาทิ ประดาบ พิบูลสงคราม นักการทูตบุตรชาย จอมพล ป.พิบูลสงครามอีกคนหนึ่ง เข้าเรียนมัธยมที่ประเทศนิวซีแลนด์ที่ Hamilton Boys High School ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลทางเกาะเหนือที่ดีอีกแห่งหนึ่ง ครูใหญ่คนปัจจุบันเป็นผู้หญิง แต่สามารถบริหารนักเรียนชายได้ดี ดร.จีระ หงส์ลดารมย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก จบมัธยมจาก New Plymouth Boys High School อยู่บนเกาะเหนือ เป็นโรงประจำชายอีกแห่งหนึ่งของรัฐที่อยู่ในเกณฑ์ดี

อีกคนหนึ่ง เป็นผู้บริการโรงแรมโรส การ์เด็นท์ ที่สามพราน  ภุชงค์ ยุวบูรณ์  จบจาก   Fielding High School (FAHS)

โรงเรียนมัธยมที่นิวซีแลนด์ คนไทยที่จบการศึกษาที่นี่ ยังคงอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่แนวโน้มผู้คนสนใจมาเรียนที่ประเทศนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะระดับมัธยม  เท่าที่ตัวเลขในช่วง5ปีที่ผ่านมาคนไทยนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนที่นิวซีแลนด์เป็นอันดับหนึ่งระหว่าง800-900คน แต่มาระยะหลังมานี้ เนื่องจากค่าเล่าเรียนแพงขึ้น ประกอบกับค่าเงินนิวซีแลนด์ก็แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาททำให้ค่าเล่าเรียนสูงขึ้นมากกว่า 30%ในช่วง2-3ปีมานี้   จึงทำแนวโน้มที่คนไทยจะส่งบุตรหลานไปเรียนระดับมัธยมมากขึ้นก็ลดลงไปบ้าง โดยหันเหไปที่ประเทศออสเตรเลีย และคานาดา มากขึ้น ประมาณกันว่า ในขณะนี้ ตัวเลขนักเรียนระดับมัธยม ในนิวซีแลนด์ใกล้เคียง กับออสเตรเลีย

คนที่สร้างฮือฮากับสังคมไทยมาก และสร้างคุณูปการให้กับการศึกษาของนิวซีแลนด์ในยุคปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น  ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ส่งบุตรและบุตรีไปเรียนที่ประเทศนี้ จนสร้างความสนใจโดยทั่วไป ฐานะเป็นคนดังคนหนึ่ง ในสังคมไทย  โดยเฉพาะ โรงเรียนมัธยมธรรมดาแห่งหนึ่ง ในChristchurch ชื่อ Cashmere High School เลยดังไปด้วย

ความจริงในช่วง10กว่าปีมานี้คนไทยนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนนิวซีแลนด์ต่อเนื่องมา   ประภัสสร เสวิกุล นักเขียนชื่อดัง ซึ่งเขารับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ใช้ชีวิตในต่างประเทศหลายแห่ง โดยช่วงหนึ่งประจำกรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ บุตรชายของเขา ก็ถูกส่งเข้าโรงเรียนที่นั่น แทนที่จะเรียนที่เวลลิงตัน เขากลับส่งเข้าโรงเรียนประจำชายที่เนลสัน ตอนเหนือ ของเกาะใต้ (Nelson College) ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ขณะนี้กำลังพยายามเจริญรอยตามบิดาด้วยการเขียนหนังสือ

Nelson College เป็นโรงเรียนของรัฐ ที่เก่าแก่ที่สุด อยู่ในเมืองไม่ใหญ่มาก เป็นโรงเรียนหนึ่งมีโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนกับวชิราวุธวิทยาลัย

อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจ  ปัญญา โชติเทวัญ เจ้าของกิจการอาหารครบวงจร ในนาม บริษัทสหฟาร์ม ได้ส่งบุตรสาวคนเดียวไปเรียนที่ตอนใต้เกาะใต้ นิวซีแลนด์ ที่Columba College (โรงเรียนประจำสตรีที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมยุควิกตอเรีย ในเมือง Dunedin ก่อนจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่นั่น (Otago University) และมาต่อระดับปริญญาโทที่ออสเตรเลีย   ปัจจุบันเสาวลักษณ์ โชติเทวัญ อายุเพียง 30ปี ก็เข้ามาช่วยดูกิจการของครอบครัวอย่างเต็มที่แล้ว

  อินเดีย

 ประเทศนี้เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  คนอินเดีย จึงสามารถพูดภาษอังกฤษได้ดีกว่าหลายชาติในเอเชีย ทำให้คนอินเดีย มีโอกาสมากมายในโลก ปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำงานด้านComputer   ในต่างประเทศประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา   ระบบโรงเรียนที่สอนภาษอังกฤษในอินเดีย มีจำนวนไม่น้อย มีคนไทย จำนวนหนึ่งผ่านโรงเรียนที่นี่มาแล้ว เช่น Woodstock  School ที่เชิงเขาหิมาลัย ในรัฐอุตรประเทศ  ทารินทร์ และ ศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์  ล้วนผ่านโรงเรียนมาแล้ว ก่อนจะข้ามไปเรียนมัธยมตอนปลายที่สหรัฐ นิพัทธ์ พุกนะสุต เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าโรงเรียนรุ่นหลัง ธารินทร์ แต่ รุ่นพี่ ศิรินทร์  ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่ ธารินทร์-นิพัทธ์ รุ่นพี่รุ่นน้องโรงเรียนเดียวกัน แต่ต้องต่อสู้กันในทางการงานและการเมืองอย่างดุเดือด เป็นคู่ปรับแห่งทศวรรษเลยทีเดียว

 ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ยังต้อนรับคนไทยยอยู่  จากเคยเข้มงวดรับคนไทยเพียงละปีละ1 คน  ปัจจุบัน มีมาก กว่า 5 คน  ที่น่าแปลกที่Woodstock  School เป็นโรงเรียนระบบอเมริกันที่สำคัญในอินเดีย  ที่สำคัญค่าเล่าเรียนแพงกว่าโรงเรียนอื่นๆทั้งหมดก็ว่าได้(เพราะครูส่วนใหญ่ เป็นชาวตะวันตก ในขณะที่โรงเรียนอื่น ครูส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย)ส่วนที่เหลือเป็นโรงเรียนระบบอังกฤษ หรือระบบอินเดีย ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษส่วนใหญ่  โรงเรียนเหล่านี้ มีประวัติศาสตร์มายาวนาน  ปัจจุบันคนไทยกลุ่มหนึ่งสนใจไปเรียนกันที่นี่มากขึ้น อาจจะเนื่องมาจากกระแสโรงเรียนนานาชาติบ้านเราแรงขึ้น ในขณะที่ทางเลือกการศึกษาในอินเดีย มีค่าเล่าเรียนต่ำกว่าทีอื่น ๆและมีให้เลือกหลายราย ตั้งแต่1 แสนบาทถึง3แสนบาทต่อปี

 ดูเหมือนรัฐบาลอินเดียเริ่มเข้าใจกระแสนี้   มีการโปรโมตมากขึ้น  ส่วนในเมืองไทยมีบริษัทท่องเที่ยวบางแห่งขยายกิจการหาโรงเรียนระดับมัธยมกันหลายรายแล้ว

ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช   ก็เคยเข้าเรียนที่อินเดียอยู่ประมาณปีหนึ่ง ที่โรงเรียนที่ St. Augustine School   เพราะเกิดสงครามจึงเดินทางกลับมาเรียนในเมืองไทย

  แคนาดา-สวิสเซอร์แลนด์ 

ขณะนี้โอกาสมีมาขึ้น มีอีกบางประเทศที่กำลังเป็นที่สนใจของคนไทย   ทั้งนี้ทั้งที่แคนาดา และสวิสเซอร์แลนด์ ยังถือเป็นแหล่งใหม่ ยังเป็นดินแดนใหม่สำหรับผู้คนที่จะส่งบุตรหลานเรียนระดับมัธยม แต่ทั้งสองประเทศได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีมีระบบการเรียนทั้งสองภาษาที่สำคัญของโลก คือภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสใน ยุคคนไทยมีทางเลือกมากขึ้น และแสวงโอกาสมากขึ้น

สวิสเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีนักเรียนต่างชาติไปเรียนหนังสือที่นั้นทุกระดับมากที่สุดในโลก ขณะที่แคนาดา มีระบบการเรียนมัธยมเหมือนกับสหรัฐ และระยะหลังมานี้ การศึกษาในแคนาดาพัฒนาไปอย่างมาก  ขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของโลก  อีกทั้งค่าเล่าเรียนอยู่ในระดับไม่แพง  เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐ และอังกฤษ 

แคนาดาเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะไม่มีเพียงโรงเรียนเอกชนเท่านั้นที่เปิดรับนักเรียนต่างชาติจำนวนมาก  โรงเรียนของรัฐก็เปิดรับด้วย โฆษณาของทางการของแคนาดาคุยว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับมัธยมที่ประเทศเขาถูกกว่าประเทศออสเตรเลียด้วยซ้ำ  ยิ่งเมื่อการจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่ เมืองใหญ่ๆของคานาดา จัดอยู่ในอันต้นๆ เช่นเดียวกับออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์  ยิ่งไปกว่านี้ รายงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งศึกษาความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี จากหน่วยงาน OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ที่เรียกว่า PISA (The Programmed for International Student Assessment) รายงานฉบับนี้เป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2000 นับเป็นรายงานฉบับที่สอง (PISA 2003) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ปี2547 ในหัวข้อ Learning for Tomorrow’s World   เป็นการศึกษาความสามารถในการใช้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน และการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของวัยรุ่นในประเทศอุตสาหกรรม (30 ประเทศ) และประเทศที่เป็นพาร์ตเนอร์ อีก 11 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย  ผลของรายงานฉบับนี้ นอกจาก จะระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มท้ายตารางในทุกวิชาแล้ว   ประเทศที่อยู่ต้นๆตาราง มี คานาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  รวมอยู่ด้วย

มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆหลายรายส่งบุตรไปเรียนที่นี่   ซึ่งมิใช่โรงเรียนเอกชน(ปกติโรงเรียนเอกชนในคานาดา มาตรฐานสูงและค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูง  ใกล้เคียงกับสหรัฐเลยทีเดียว)  แต่เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ดี  โดยเฉพาะ กานต์ ตระกูลฮุน  รองผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าจะมาแทนผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันในสิ้นปี2548 ก็ส่งบุตรไปเรียนที่เมืองแวนคูเวอร์

ส่วนที่สวิสเซอร์แลนด์ มีคนไทยจำนวนไม่มากที่ส่งบุตรหลายไปเรียน เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะสูงมาก  ความสนใจ ประเทศเพิ่มขึ้นมา เมื่อ บัณฑูร ล่ำซำ ส่งบุตรสาว บุตรชายไปเรียนระดับมัธยมที่สวิสเซอร์แลนด์   ซึ่งเชื่อว่าจะมีอิทธิพลต่อคนอื่นๆไม่น้อย

Aiglon College** ตั้งอยู่ทางตอนใต้ใกล้ชายแดนของประเทศฝรั่งเศส ห่างจาก Lausanne ไม่ไกลนัก ในบ้านเมืองที่สวยงามตั้งบนที่ราบสูงกว่า 1 กิโลเมตรเหนือน้ำทะเล คนแถวนี้จึงพูดภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อกว่า 50 ปีแล้วโดยชาวอังกฤษ  บัณฑูร ล่ำซำ ชอบประเทศนี้เป็นพิเศษ ตั้งแต่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาก็เคยข้ามฝั่งมาเรียนภาคฤดูร้อนที่นี่ ปัจจุบันเขามักพาครอบครัวไปเที่ยวที่ประเทศนี้เสมอ จึงได้ศึกษาเรื่องราวการศึกษาด้วย บุตรและบุตรีของเขาเคยถูกส่งเข้าเรียน Summer School ที่ Aiglon College มาแล้ว โดยมีภรรยาไปดูแล

ผมมีตัวอย่างโรงเรียนมัธยมใน2ประเทศอยู่บ้าง จากการขอข้อมูลจากWebsite ของโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งปรากฏว่ามีการตอบสนองความต้องการข้อมูลของต่างชาติดีมากเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ไม่ว่าใช้เวลา การส่งข้อมูลกลับมา อย่างรวดเร็ว ทั้งข้อมูลจัดระบบอย่างดี เพียงแต่ว่ามีบางโรงเรียนในสวิสเซอร์แลนด์ ทำเอกสารเป็นภาษาฝรั่งเศส แสดงว่าประเทศทั้งสองพร้อม จะเปิดรับต่างชาติอย่างเต็มที่

เชิงอรรถ 

* เทียนชัย ลายเลิศ    เขาเป็นทายาทคนสำคัญของตระกูลลายเลิศ ที่มีความผูกพันกับตระกูลธุรกิจเก่าแก่ของไทยหลายตระกูล ยิบอินซอย จูตระกูล  ทวีสิน และลำซ่ำ ปู่ของเทียนชัย เป็นต้นตระกูลในเมืองไทย ชื่อเลนำคิน ซี่งมีลูกเขยคนสำคัญ คือ ยิบอินซอยที่ร่วมกับบุกเบิกธุรกิจเหมืองแร่ ในฐานะผู้แทนการค้าของบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะอังกฤษที่มาปักหลักแถวปีนัง สิงคโปร์  และออสเตรเลีย  บิดาของเทียนชัย คือ ฉันท์ ลายเลิศ ซึ่งต่อมาก็คือหุ้นส่วนคนสำคัญของกลุ่มยิบอินซอย ซึ่งขยายกิจการ จากธุรกิจเหมืองแร่ที่ซบเซาไป ไปสูการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจการเงิน ในช่วงเฟื่องฟูทั้งศรีมิตร หรือเอกธนกิจ(เดิมชื่อ ยิบอินซอยการลงทุน) ซึ่งทั้งสองปิดตัวเองไปแล้ว ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา

ฉันท์  บุตรชายคนโตของเลนำคิน แต่งงานกับ ตระกูลทวีสิน ซึ่งผู้ชายตระกูลคนหนึ่งแต่งงานกับชูตระกูล  และผู้ชายคนโตของรุ่นที่สองของชูตระกูลก็แต่งงานกับล่ำซำ

 **Aiglon College

สหศึกษา 340 คน เป็นนักเรียนประจำเกือบทั้งหมด ·อายุ 13-18 ปี

  • ·ค่าเล่าเรียน นักเรียนประจำ 14,833-20,853 ฟรังก์สวิส (SFr) –เอกชน

ประวัติและบรรยากาศ ก่อตั้งในปี 1947 โดย John Corlette ซึ่งเคยสอนอยู่ที่ Gordonstoun ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดจนถึงวันที่ 6 มกราคม 1949 จึงสามารถเปิดโรงเรียนได้โดยมีนักเรียน 6 คน (รวมถึงเจ้าหญิงจากสยามคนหนึ่ง) ครูใหญ่ 1 คน ครู 4 คน และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน นักเรียนส่วนใหญ่มาเรียนที่นี่ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ (อาจหมายถึงวัณโรค) ช่วงแรกมีปัญหาด้านการเงินหลายอย่าง สาเหตุจากความผันผวนของค่าเงิน แต่โรงเรียนก็อยู่รอดมาได้ เปลี่ยนเป็นสหศึกษาในปี 1969 และเป็นโรงเรียนนานาชาติโรงเรียนเดียวที่ให้การศึกษาแบบอังกฤษ

 อาคารเรียน ซึ่งอาจเป็นหอนอนอย่างเดียวหรือห้องเรียนอย่างเดียว หรือประกอบด้วยหอนอนและห้องเรียน ตั้งกระจัดกระจายรอบๆพื้นที่ของ Chesieres หอนอนจะแยกหญิงชาย โดยนักเรียนหญิงหรือนักเรียนชายจะได้รับอนุญาตเข้าไปในหอนอนของอีกฝ่ายได้เพียงแค่ชั้นล่างเท่านั้น ห้องนอน 1 ห้องต่อนักเรียน 3 คน แต่มีห้องเดี่ยวบ้าง

 อาหารเพิ่งได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น หลังจากเปลี่ยนให้บริษัทภายนอกเป็นผู้ปรุงอาหาร มีสลัดบาร์ และเสริ์ฟอาหารที่นักเรียนชอบมากขึ้น และคำนึงถึงความชอบที่ต่างกันของนักเรียนหญิงกับนักเรียนชายด้วย ระเบียบการแต่งกายของโรงเรียนเข้มงวดมาก ห้ามเห็นรอยสักหรือรอยเจาะและห้ามเจาะลิ้น นักเรียนชายห้ามใส่ต่างหูแต่นักเรียนหญิงใส่ได้ มีการทำสมาธิ 15 นาทีทุกวันก่อนเริ่มเรียน ซึ่งนักเรียนชอบกันมาก

 นักเรียนและผู้ปกครอง นานาชาติ เรียนครึ่งเทอมในฤดูใบไม้ร่วง วันหยุดยาวในฤดูหนาวและฤดูร้อน นักเรียนที่อยู่ในอังกฤษอนุญาตให้ออกจากโรงเรียนได้ในบางสัปดาห์ นักเรียนที่มาจากชาติเดียวกันจะอยู่ในหอนอนเดียวกันได้สูงสุด 6 คน นักเรียนมีทั้งเจ้าชาย ทายาทนักอุตสาหกรรม และชั้นหัวกะทิของโลก การรับนักเรียนโรงเรียนมีข้อสอบเข้าของตนเอง และสอบสัมภาษณ์ และต้องมีหนังสือรับรองจากโรงเรียนเดิม ผลสอบ GCSE หรือเทียบเท่าต้องอยู่ในระดับน่าพอใจสำหรับนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนชั้น sixth form

หมายเหตุ เป็นโรงเรียนที่เก่งทั้งวิชาการ กีฬาและเข้มแข็งทางด้านจิตใจ แต่ไม่ใช่โรงเรียนที่ง่าย ไม่เหมาะสำหรับนักเรียนที่ขี้อายและชอบเก็บตัว หรือไม่ฉลาดทันคน เป็นโรงเรียนที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย และมีเป้าหมายแน่วแน่(เรียบเรียงจากGood Schools Guide)

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: