ห่วงโซ่อุปทาน “มังกร” ในประเทศจีน

(แปลและเรียงเรียงมาจาก The “Dragon” Supply Chain in China ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรณีศึกษา International Agribusiness in China: Charoen Pokphand Group, Harvard Business School, November 16, 2009)

ที่ซีพี   ผู้บริหารมักจะมองห่วงโซ่อุปทานเป็น “มังกร” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์มงคลของอำนาจในประเทศจีน    เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และพื้นที่ต่างๆอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมที่แตกต่างกันไป   ฝ่ายปฏิบัติการของซีพีในประเทศจีนจึงได้ริเริ่มระบบ “มังกร” ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะให้มีความยาวและความลึกที่แตกต่างกัน    กลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานนี้เป็นระบบธุรกิจการเกษตรจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคระบบแรกที่ถูกนำมาใช้ในประเทศจีน

“มังกร” แต่ละตัวมีศักยภาพที่จะเป็นตัวแทนของโมเดลธุรกิจ ที่รู้จักกันในชื่อ “จากฟาร์มถึงส้อม” ซึ่งครอบคลุมวงจรธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมทั้งหมด นับจากขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์  การผลิตอาหารสัตว์ และการสัตวบาล  (ซีพีได้ก่อตั้งโรงเพาะเลี้ยงลูกไก่แห่งแรกในประเทศจีน)  การแปรรูปอาหารและการกระจายสินค้าอาหารไปยังตลาดทั้งในและนอกประเทศ   ซีพีได้ใช้ผู้ตรวจสอบอาหาร นักวิทยาศาสตร์อาหาร  เจ้าหน้าที่ห้องทดลองและผู้เชี่ยวชาญในการรับรองคุณภาพของตนเอง  และยังคงให้มีห้องทดลองในบริเวณโรงงานเพื่อทดสอบอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าได้มาตรฐานในเรื่องคุณภาพด้านจุลชีวเคมี ด้านเคมีและด้านโภชนาการ      บริษัทส่วนใหญ่ของซีพีได้รับการรับรอง ISO9000 และ ISO14000 และสินค้าอาหารทั้งหมดได้ผลิตตามมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Points)

ฟาร์มของซีพีส่วนใหญ่ได้มีการกำหนดที่ตั้ง ออกแบบและก่อสร้างสำหรับการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ และถูกแยกออกจากเขตชุมชนและฟาร์มอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค    ระบบ “ฟาร์มถึงส้อม” ยังช่วยให้ซีพีมีระบบการบันทึก เพื่อจะได้สามารถติดตามขั้นตอนการผลิตทั้งหมดได้อีกด้วย    ไม่ว่าจะเป็นที่จุดใดๆในห่วงโซ่อุปทาน   ซีพีก็สามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าและติดตามการกระจายไปยังผู้ใช้สุดท้าย   นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ซีพีแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆในประเทศจีน

การจัดหาและการนำห่วงโซ่อุปทานจีนมาใช้ 

เพื่อให้เห็นว่าซีพีได้นำกลยุทธ์ของซีพีมาใช้ในตลาดที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายเช่นจีนได้อย่างไร    การปฏิบัติการด้านห่วงโซ่อุปทานแบบรวมตัวในแนวตั้งของซีพี  มีตั้งแต่ปฏิบัติงานของโรงงานอาหารสัตว์ ไปยังการขยายตัวไปข้างหน้า (Forward integration) ไปยังการผสมพันธุ์ การเพาะเลี้ยง การสัตวบาล และการแปรรูปเนื้อสัตว์ และขั้นตอนการเตรียมที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของเนื้อสัตว์พร้อมบริโภคและอาหารแช่แข็ง   ขั้นตอนสุดท้ายนั้นให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมผ่านกระบวนการ branding การทำตลาด และการกระจายสินค้าทั้งสำหรับตลาดภายในประเทศและตลาดเพื่อการส่งออก

ซีพีจะใช้ “มังกร” ที่ยาว สั้น  ใหญ่ หรือเล็กซึ่งบริหารงานโดยคนที่มีความชำนาญที่แตกต่างกันไป  ขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ที่ซีพีดำเนินกิจการอยู่     ในพื้นที่ที่การพัฒนาอยู่ในระดับต่ำกว่า   รองประธานมีแนวโน้มที่จะบริหารงานอย่างใกล้ชิด   ในขณะที่  ในเมืองระดับแนวหน้าที่มีการพัฒนามากกว่า  จะมีการแต่งตั้งผู้จัดการที่มีประสบการณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ     นอกจากนี้ ซีพียังเสาะหาผู้มีความสามารถในพื้นที่นั้นๆจากมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรและโรงเรียนอาชีวะ   ระบบหมุนเวียนทำให้บุคลากรสามารถไต่เต้าจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญไปยังตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป   พนักงานที่มีศักยภาพจะได้รับการหมุนเวียนไปปฏิบัติงานในภูมิประเทศที่แตกต่างกันไป และจะถูกส่งไปยังซีพีที่ประเทศไทยเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่มากกว่าในด้านการปฏิบัติงาน “มังกร” ซึ่งถูกจัดให้เป็นระบบอย่างดีแล้ว

ในประเทศจีน  ซีพีมีโรงงานอาหารสัตว์จำนวน 80 โรง ซึ่งในปี 2008  ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์ในประเทศจีนประมาณ 10%    ซีพีขายอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกรผ่านร้านค้าเฉพาะทางที่มีอยู่ทั่วประเทศ   ร้านค้าเหล่านี้ให้บริการด้านคำปรึกษาในเรื่องสินค้า ผ่านทางวิดีโอที่มีอยู่ในร้าน หรือไม่ก็ผ่านการประชุมเป็นกลุ่มที่ได้จัดเตรียมการไว้ล่วงหน้า ทำให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้ที่จะใช้อาหารสัตว์ของซีพีอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

ซีพีเพาะเลี้ยงไก่และหมูโดยใช้เทคนิคที่ทันสมัยที่สุด  สำหรับไก่  เทคนิคนี้รวมถึงการกะเทาะไข่เป็นล้านใบเพื่อให้ได้ลูกเจี๊ยบซึ่งจะถูกนำไปเลี้ยงภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการควบคุม โดยผู้เลี้ยงอิสระซึ่งจะสามารถขายไก่กลับไปให้ซีพีเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารต่อไป    ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยรวมถึงฟาร์มเพาะเลี้ยงที่มีหลายชั้น  เกษตรกรซึ่งก่อนหน้านี้สามารถเลี้ยงไก่พื้นเมืองได้เพียงจำนวนหนึ่งในพื้นที่หลังบ้าน จะสามารถเลี้ยงไก่ได้มากถึง 100, 000 ตัวด้วยความช่วยเหลือจากซีพีและนักวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ที่ซีพีจ้างไว้    ในปี 2004 ไก่รุ่นของซีพีคิดเป็น 20% ของไก่รุ่นที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศจีน

การขยายตัวของระบบ “มังกร”

มาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงขึ้นในประเทศจีนทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์และโปรตีนเพิ่มสูงขึ้น    ในปี 2008   ชาวจีนบริโภคเนื้อหมูมากกว่า 70% ของเนื้อหมูที่บริโภคทั้งโลก      เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้  ชาวจีนได้เลี้ยงสุกรเอาไว้บริโภคเองและยังได้กลายมาเป็นผู้ผลิตสัตว์ปีกรายใหญ่อันดับสองของโลก   จีนผลิตเนื้อไก่ได้ประมาณ 19% ของที่ผลิตได้ในโลกและผลิตไข่ได้มากกว่า 40% ของที่ผลิตได้ในโลก    หน้าที่ของซีพีในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกับเกษตรกรอิสระในประเทศจีน   ซีพีแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ได้จากผู้เลี้ยงอิสระที่ได้ทำสัญญากันไว้ ให้เป็นเนื้อสัตว์สด เนื้อสัตว์แช่เย็นและเนื้อสัตว์แช่แข็ง  สินค้ารวมถึงอาหารที่ปรุงสุกมากกว่า 100 ชนิด มีตั้งแต่ติ่มซำ สะเต๊ะ จนถึงอาหารแช่แข็ง    ปัจจุบัน ซีพีมีระบบ “มังกร” ที่ครบวงจรในประเทศจีนจำนวน 6 ระบบสำหรับการตอบสนองผู้บริโภคในญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และยุโรป  นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 ระบบที่มีเพื่อไว้ตอบสนองตลาดในประเทศ

ภายในปี 2007   ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรของซีพีเติบโตอย่างแข็งแกร่งในจีน และรายได้จากประเทศจีนนี้คิดเป็น 40% ของรายได้รวมที่กลุ่มซีพีได้รับ ซึ่งมีมากถึง 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ    ซีพีนั้นแตกต่างจากบริษัทข้ามชาติที่มักตั้งฐานธุรกิจที่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งรอบๆเซี่ยงไฮ้และกวางตุ้ง โดยได้ลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วประเทศจีน โดยก่อตั้งบริษัทจำนวน 213 บริษัทในทุกจังหวัดของจีน ยกเว้น Qinghai และจ้างงานมากกว่า 80,000 คน   ยอดขายต่อปีสูงเกิน 30 พันล้านหยวน (4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีการประเมินว่ารายได้ของซีพี น่าจะเติบโต 15% ในปี 2008

ตัวอย่างระบบ “มังกร” ซีพีในประเทศจีน คือ Qingdao Chia Tai Co.,Ltd. (QCTC)  บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่อันทันสมัย   ตั้งอยู่ที่ Qingdao, Shangdong  ในปี 1989  ด้วยการลงทุนทั้งสิ้น 1 พันล้านหยวน (ประมาณ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)   เพื่อตอบสนองพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน รวมทั้งส่งออกไปยัง 20 ตลาด ไล่ตั้งแต่ญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  สหภาพยุโรป  รัสเซีย  ตะวันออกกลาง  แอฟริกาใต้  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ฮ่องกงและมาเก๊า    QCTC ได้ใช้วิธีการบริหารแบบผสมผสาน 5 อย่างเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย     QCTC จัดหาอาหารสัตว์  สายพันธุ์  วัคซีน  เทคโนโลยีและเทคนิคการจัดการให้กับเกษตรกรแต่ละราย   ในแต่ละปี  ผลิตอาหารสัตว์ได้มากถึง 400,000 ตัน มีการใช้อุปกรณ์ทันสมัยที่นำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก  ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเพื่อแปรรูปไก่พ่อพันธ์กว่า 9 ล้านตัว  ไก่รุ่นกว่า 52 ล้านตัว เนื้อไก่ดิบกว่า 78,000 ตัน และเนื้อไก่แปรรูปกว่า 30,000 ตันในแต่ละปี

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: