ลุงบุญมี(เมืองคานส์) กับศาลาไทย(เซียงไฮ้)

จากนี้ผมจะพยายามอรรถาธิบายและปะติดปะต่อภาพความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทอีกสักครั้ง ความสัมพันธ์ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง  เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ถึงความเป็นสังคมไทยโดยรวมได้บ้าง   ภาพนี้ อาจสะท้อนถึงกรณีที่น่าสนใจ เช่น ภาพยนตร์”ลุงบุญมีระลึกชาติ”  และศาลาไทยที่ World Expo Shanghai 2010   ได้ด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ของผู้สร้างและผู้กำกับ –อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เพิ่งคว้าคว้ารางวัล “ปาล์มทองคำ”(Palm d’Or award) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นครั้งแรกของภาพยนตร์ไทยที่ได้รับรางวัลนี้ด้วย

“ว่าด้วยความทรงจำของผู้คนในหมู่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม หลังจากที่เขาได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านดังกล่าว และได้พบกับชาวนาที่ใช้ชีวิตผ่านความรุนแรงและการกดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ ในยุคสมัยที่รัฐไทยทำสงครามประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” สาระเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ (อ้างมาจากมติชนออนไลน์) สะท้อนภาพชนบทไทย ในช่วงสงครามเวียดนามและต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในระดับภูมิภาคเมื่อประมาณ4 ทศวรรษได้อย่างดี

ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ  และจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของพัฒนาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับเมือง  อาจจะถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากยุทธ์ศาสตร์เดียวกันของรัฐ

ข้อเขียนของผมหลายชิ้นได้กล่าวถึงผลกระทบในช่วงเวลานั้นในเชิงเศรษฐกิจต่อสังคมไทยมาแล้วพอสมควร  มันเป็นภาพขัดแย้งกันมากทีเดียว ขณะที่ชนบทเผชิญความยุ่งยาก  แต่เมืองกลับปรากฏภาพเด่นชัดสะท้อนการพัฒนา และโอกาสที่เพิ่มขึ้น

1

“ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ  ในทางเศรษฐกิจเกิดการพัฒนาอย่างมากในด้านสาธารณูปโภค ที่เน้นระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบทบางพื้นที่ การเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น เปิดโอกาสเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เพื่อสนองพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง(Critical Mass) ใช้สินค้าเพื่อความสะดวกสบายแบบตะวันตกมากขึ้น กระแสการตื่นตัวรับสินค้าสมัยใหม่   กว้างขวางกลายเป็นการตลาดที่คุ้มต่อการลงทุน ดูเหมือนเป็นกระแสที่มาพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวาง”

“โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ขยายตัวลักษณะครบวงจร นอกจากจะเป็นสินค้ามวลชน ของสังคมในขณะนั้นแล้ว ยังเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดเปลี่ยนแปลงสถานะแรงงานในสังคมไทย แรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรกรรม เข้าสู่โรงงานในจำนวนที่มากขึ้น แรงงานกลุ่มนี้ เป็นพลังที่มีกลุ่มก้อน ได้กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมาด้วย” (จาก Critical Mass )

นั่นคือจุดเริ่มต้นของขบวนแรงงานจากชนบท เข้าสู่เมืองครั้งใหญ่   จากอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมากขยายตัวต่อจากนั้น จากสิ่งทอ สู่อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์ จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ ในขณะที่เมืองเป็นศูนย์กลางการศึกษา  ถือเป็นกระบวนการการเคลื่อนย้ายผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งจากหัวเมือง และชนบท  สู่โอกาสที่กว้างขึ้นที่กรุงเทพฯด้วย

2

กระแสอิทธิพลจากเมืองเริ่มเคลื่อนออกสู่ชนบทอย่างจริงจัง เริ่มขึ้นตั้งแต่การเริ่มต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภาคตะวันออก  โดยกระบวนการการพัฒนาอย่างจริงจัง เกิดขึ้นหลังสงครามเวียดนาม   การขยายตัวอย่างมากมายต่อเนื่องจากนั้น ได้รับการกระตุ้นโดยตรงจากนโยบาย    “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า”ในยุคชาติชาย ชุณหะวัณ

 “นิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลในจังหวัดชลบุรีและระยองเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งปี 2525   เป็นต้นมา ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมกระจุกในอาณาบริเวณนี้ มากที่สุดอย่างน้อย 13 แห่ง   

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของย่านนี้ สร้างผลกระทบวงกว้าง นับเป็นว่าภาคอุตสาหกรรมการขยายตัวสู่หัวเมืองและชนบทอย่างเป็นกระบวนการมากที่สุด      ต่อเนื่องจากแนวทางนี้ รัฐบาลได้ขยายเขตการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปในขอบเขตทั่วประเทศ มากกว่า 35 แห่ง ยังไม่รวมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่สร้างขึ้นสำหรับกิจการในเครือข่ายของตน ไม่ว่า กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มกระทิงแดง และเกษตรรุ่งเรือง

ชนบทไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในเชิงสังคมครั้งใหญ่   ผู้คนในภาคเกษตร เริ่มเคลื่อนย้ายไปสู่โรงงานมากขึ้น   ในช่วงทศวรรษก่อน แรงงานจากชนบาท ต้องเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองหลวงโดยตรง แต่จากนั้นมา ทางเลือกมีมากขึ้น เพียงเคลื่อนย้ายไปสู่หัวเมือง หรือแม้กระทั่งอยู่ในชนบท ที่ถูกพัฒนาใหม่” (จาก  ตุลาคม 2552 เมืองรุกชนบท  )

3

ในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่( 2530-2540) เครือข่ายธุรกิจจากกรุงเทพฯ ขยายอิทธิพลครอบคลุมระดับประเทศ   โดยส่งผลถึงความอยู่รอด ของธุรกิจภูมิภาค แล้วขยายอิทธิพลลงลึกระดับวิถีชีวิตผู้บริโภคในเวลาต่อมา   

“ธุรกิจตัวแทน ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และเข้าใจผู้บริโภคท้องถิ่น ธุรกิจครอบครัวในหัวเมือง สะสมความมั่งคั่ง จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจอิทธิพลมากขึ้น ๆ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บางกลุ่มก็สามารถพัฒนาตนเองเป็นธุรกิจระดับชาติได้ อาทิ กลุ่มบุญสูง และภัทรประสิทธิ์ แต่ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว” (จาก การต่อสู้ของธุรกิจท้องถิ่นไทย”)

การคมนาคม สื่อสาร ระหว่างเมือง หัวเมืองและชนบทสะดวกขึ้น องค์กรธุรกิจส่วนกลางสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจได้เองมากขึ้น  การรุกคืบของธุรกิจจากส่วนกลาง (รวมไปจนถึงเครือข่ายของธุรกิจระดับโลก) เข้าสู่ต่างจังหวัด เท่ากับไปแข่งขันกับธุรกิจหัวเมืองโดยตรง  ธุรกิจท้องถิ่นได้ต่อสู้และ ต่อต้านเพียงระยะหนึ่ง  แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้

ในช่วงครึ่งทศวรรษแรกในช่วงนี้ มีการพัฒนาเครือข่ายสื่อสาร คมนาคม ขนส่งอย่างมาก    เริ่มตั้งแต่นโยบายทางการเมือง ด้วยการสร้างถนน เป็นสัญลักษณ์การกระจายความเจริญสู่ชนบท   การสร้างเครือข่ายทีวีทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ชมทั่วประเทศชมรายการเดียวกัน โฆษณาสินค้าชนิดเดียวกัน   การสร้างเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานในชนบท  ไปจนถึงการเติบโตของเครือข่ายไร้สาย ที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการสร่งเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

โมเมนตัมการขยายเครือข่ายธุรกิจส่วนกลางสูชนบท รุนแรงมากขึ้นด้วย เครือข่ายการค้าปลีก การค้าสมัยใหม่ เป็นการขยายตัวต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา  ปัจจุบันเครือข่ายการค้าสมัยใหม่  เช่น  Big C, Tesco Lotus   เริ่มขยายตัวถึงระดับอำเภอ ขณะที่ 7-Eleven ขยายตัวถึงระดับตำบลสำคัญๆของประเทศ

จากนี้หัวเมืองและชนบท ไม่ใช่เพียงตลาดแรงงานเช่นในอดีต หากเป็นตลาดสำคัญที่เริ่มมีอิทธิเพลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจที่สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

 4

เมื่อเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ปี2540 สังคมเมืองหลวงต้องถูกบังคับให้ปรับตัว จากผลกระทบอย่างรุนแรง แม้ว่าผลกระทบจะถึงชนบทด้วย แต่ชนบทก็กลายเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ทั้งยังสามารถเป็นพื้นที่ใหม่ สำหรับพักพิงและรอคอยโอกาสที่ยืดหยุ่น  

ขณะเดียวกันผู้คนก็มีเวลาทบทวนแนวความคิดที่ว่าด้วยการพัฒนาและโอกาสทางเศรษฐกิจให้รอบด้านขึ้น แนวความคิดว่าด้วยความพยายามลดความเสี่ยง มาจากการพึ่งพิงโลกภายนอกมากเกินความจำเป็นเกิดขึ้น  พร้อมๆกับความพยายามแสวงหาคุณค่าที่ยั่งยืน ค้นหาโมเดลเฉพาะ สำหรับสังคมไทย    —ชนบทไทยจึงมีความหมายมากขึ้นๆอย่างชัดเจน

ในระดับโลก กระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น เป็นเรื่องจริงที่จับต้องได้ และขยายวงอย่างรวดเร็วและรุนแรง  ในที่สุดก็ผนวกเข้ากับเป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจระดับโลก  แม้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากเช่นกัน สังคมธุรกิจไทย ตื่นตัวเรื่องนี้มาจากแรงบีบคั้นระดับโลก มาจากแรงบันดาลใจทางธุรกิจ  มากกว่าจะเข้าใจคุณค่าของสังคมตนเอง  แต่ผลก็ดูเหมือนสนับสนุนและส่งเสริมทางเลือกใหม่ สัมพันธ์กับสังคมชนบท และชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิมของไทยมากขึ้น

ว่าไปแล้วชนบทถูกพัฒนามาถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงช่วงสำคัญ   ตั้งแต่การพัฒนามาจากแรงบันดาลใจตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ว่าด้วยการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน  ว่าด้วยพื้นที่ใหม่ของขยายโอกาสทางธุรกิจจากเมืองหลวง  ว่าด้วยสร้างเครือข่ายข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง และเครือข่ายธุรกิจระดับประเทศ   ชนบทจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้น   ความจริงรัฐบาลชุดที่ให้ความสำคัญกับชนบทอย่างมากนั้น ไม่ได้มีเวตรมนตร์พิเศษ  หากเพียงเดินตามกระแสที่ควรเป็นไปเท่านั้น

การเกิดขึ้นของโอกาส เข้าถึงแหล่งทุนบ้าง การกระตุ้นการฟื้นฟูวิทยาการชนบทว่าด้วยสินค้าท้องถิ่น จากชุมชนเกษตรกรรม ได้สร้างพลังมหัศจรรย์  หลายคนยังไม่อาจเข้าใจได้ว่าสินค้าจากชนบท หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ OTOP” (ก่อตั้งปี2544) สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งบางส่วนข้ามกรุงเทพฯสู่ตลาดระดับโลกด้วยตนเองได้  

แวดวงธุรกิจไทยมีความพยามทำสิ่งหนึ่งที่ดูน่าตื่นเต้น นั่นคือการเดินตามตำราตะวันตกอย่างแข็งขัน ว่าด้วยการสร้างแบรนดไทย แบรนดเอเชียและแบรนดระดับโลก   นับเป็นกระแสลมตะวันตกพัดแรงมากช่วงหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นสูตรสำเร็จของทางออกจากวิกฤติการณ์  แม้สูตรสำคัญนี้ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทที่ปรึกษาต่างชาติจำนวนมาก  จนวันนี้เรายังไม่สามารถหาสินค้าไทย แบรนดไทยคุณค่าระดับโลกได้อย่างจริงจัง นอกเสียจากแบรนดที่ถูกสร้างตัวเองอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ

“ข้าวหอมมะลิ เป็นแบรนดที่มีคุณค่ามากกว่าสินค้าทั่วๆไป หนึ่ง-เชื่อมโยงกับภาพรวมประเทศไทย สอง-เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมของไทยที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตอาหารของโลก      สาม- เป็นแบรนด์ใหญ่ ภายใต้ร่มของแบรนด์นี้ สามารถแบรนดสินค้าย่อย เชื่อมโยงข้าวหอมมะลิได้อย่างหลากหลาย

 อาจกล่าวได้ว่า ข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าชนิดเดียวทีมีมูลค่าในตลาดสูงที่สุดของไทย มูลค่าเฉพาะการส่งออกอย่างเดียว ปีละมากกว่าสามหมื่นล้านบาท(อ้างอิงจากตัวเลขการส่งออกในปี 2549)” (จากเกษตรสองกระแส” )

หลังวิกฤติการณ์ปี 2540   มีโรงแรมระดับห้าดาวอย่างน้อย สองแห่งเกิดขึ้นในระยะใกล้เคียงกันที่สะท้อนความน่าทึ่งบางอย่าง Four Seasons Resort Chiang Mai และ    Mandarin Oriental Dhara Dhevi, Chiang Mai    มาพร้อมกับกระบวนการและแบบแผนภูมิสถาปัตยกรรมใหม่ ซึ่งที่แท้จริงคือ การสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชนบทไทย—การทำนา จากนั้นไม่นานกระแสการสร้างภูมิสถาปัตยกรรมทำนองนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เป็นบุคลิกของโรงแรมที่มีเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ จนวันนี้ลูกค้าคนไทยก็ยอมรับด้วยเช่นกัน

อีกแง่มุมหนึ่งของความสำเร็จภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” กับรางวัล “ปาล์มทองคำ”(Palm d’Or award) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาล ภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้สะท้อนภาพวัฒนธรรม ความเชื่อ ความหวัง และรากเหง้าของชุมชนไทย ที่มีที่ยืนที่แน่นอนในระดับโลกได้

จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า แนวคิดของ “ศาลาไทย”ในงาน World Expo Shanghai 2010 ที่ลงทุนไปประมาณ500 ล้านบาท จึงต้องอ้างอิงถึง“วัฒนธรรมข้าว” ด้วย

Sustainable Ways of Life วิถีไทยแห่งความยั่งยืน ผู้คนในแผ่นดินสุวรรณภูมิ ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมสายน้ำ และวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญา และการใช้ชีวิตของผู้คนที่สอดคล้อง และผสมผสานกับธรรมชาติ………”แนวคิดสำคัญที่ดูเหมือนเข้าท่าและทันสมัย  แสดงถึงความพยามของรัฐไทยในการแสวงหาที่ยืนที่โดดเด่นในตลาดโลก  (ส่วนหนึ่งจาก  หัวข้อหลัก (Theme) ของประเทศไทย (Thainess: Sustainable Ways of Life) ของศาลาไทย จาก www.thailandexpo2010.com/th

แต่จากข้อมูลที่เสนอมาทั้งหมดนั้น  เพียงตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อในแนวความคิดและประสบการณ์การนำเสนอ  “เอกลักษณ์ไทย”ที่สืบทอดกันมานาน ในWorld Expo หลายครั้งในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าครั้งนี้ดูเหมือนมีความพยายามพัฒนารูปแบบศาลาไทยบ้าง ก็เป็นเพียงทางเทคนิค   โดยรวมทั้งรูปแบบและแนวคิด มาจากข้อจำกัดของกระบวนการทำงานของระบบราชการ และมีเป้าหมายค่อนข้างแคบอยู่กับแผนการตลาดการท่องเที่ยว ผมยังไม่เชื่อมั่นว่าได้สะท้อนภาพ“เอกลักษณ์ไทย”อย่างมีพลวัตรและแสดงความสัมพันธ์อันแนบแน่นและหลายมิติกับประชาคมโลกยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามทั้งภาพยนตร์”ลุงบุญมีระลึกชาติ”  และศาลาไทยที่ World Expo Shanghai 2010 ได้ทำหน้าที่ และแสดงบทบาทในทำนองเดียวกัน แม้จะมีที่มา ความเชื่อ ประสบการณ์ และการลงทุนที่แตกต่างกันอย่างมากมาย  

 หากผมจะติดป้าย WE SUPPORT FILM MAKER APICHATPONG WEERASETHAKUL คงไม่ว่ากัน

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: